สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานและพนักงานสัญญาจ้าง เพื่อให้การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ดังนี้
1. รอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ปีละ 2 ครั้ง ตามปีปฏิทิน คือ
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน และ
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม
2. ปัจจัยในการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ให้คณะกรรมการด้านบริหารงานบุคคลเป็นผู้พิจารณากำหนดปัจจัยและน้ำหนักการประเมินของพนักงานแต่ละระดับ ด้วยการนำปัจจัยการประเมินเลขาธิการมาถ่ายทอดลงไปสู่พนักงานตามลำดับ
ปัจจัยการประเมินผลการปฏิบัติงานต้องสามารถสะท้อนถึง
(1) ผลการทำงานตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และระยะเวลา รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น เท่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
(2) การบริหารจัดการงาน การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การจัดสรรทรัพยากรบุคคลเหมาะสม คุ้มค่าเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง มีการควบคุมความเสี่ยง ดูแลและจัดการข้อมูลในความรับผิดชอบให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน สามารถดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายด้านนวัตกรรม การปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงานของตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการขึ้นไป จะกำหนดปัจจัยเรื่องการบริหารคน การสร้างบรรยากาศ กำลังใจ พัฒนาพนักงานและทีมงาน ตั้งเป้าหมายการประเมินผล ให้ Feedback/Coaching และจัดให้มี Succession Plan และ IDP รวมทั้งผลักดัน สนับสนุนทีมงาน เพื่อให้เกิดผลงานด้านนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
(3) การบริหารจัดการตนเอง การสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสายงาน หรือการแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร พฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร และแสดงให้เห็นการเป็นผู้ที่เข้าใจและยึดมั่นในประมวลจริยธรรมพนักงานและจรรยาบรรณพนักงาน
3. การแบ่งระดับผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ให้แบ่งเป็นระดับ ดังนี้
(1) ผลปฏิบัติงานดีเยี่ยมอย่างชัดเจน (Excellent)
(2) ผลปฏิบัติงานดีมาก สามารถปฏิบัติงานได้เกินความคาดหวังของระดับตำแหน่ง (Over-Expectation)
(3) ผลปฏิบัติงานเป็นที่พอใจ (Satisfactory) แบ่งเป็น
- ระดับ S+ คือ ผลปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจมาก
- ระดับ S คือ ผลปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจ
- ระดับ S- คือ ผลปฏิบัติงานอยู่ในระดับพอใช้ แต่ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
(4) ผลปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจ ปฏิบัติงานไม่เรียบร้อย หรือไม่เอาใจใส่ในงาน (Unsatisfactory)
4. ผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน เป็นไปตามกรณีดังต่อไปนี้
ผู้ประเมิน
| ผู้รับการประเมิน |
4.1 เลขาธิการ | (ก) รองเลขาธิการ (ข) ผู้ช่วยเลขาธิการ ในกรณีที่ตามสายการบังคับบัญชาไม่มีรองเลขาธิการ (ค) พนักงานซึ่งปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการ |
4.2 รองเลขาธิการ | (ก) ผู้ช่วยเลขาธิการ (ข) พนักงานซึ่งปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อรองเลขาธิการ |
4.3 ผู้ช่วยเลขาธิการ | (ก) หัวหน้าส่วนงาน แต่ไม่รวมถึงผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน (ข) พนักงานซึ่งปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อผู้ช่วยเลขาธิการ |
4.4 หัวหน้าส่วนงาน | เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนงานซึ่งอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชา
|
ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพนักงานเป็นผู้ประเมินคะแนนตามปัจจัยและน้ำหนักการประเมินของพนักงานแต่ละคนก่อน คะแนนที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยนำเสนอต่อผู้ประเมินตาม 4. (4.1-4.4) เพื่อประเมินระดับผลการปฏิบัติงาน ซึ่งผลประเมินการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคนจะถูกนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ประเมินเหนือขึ้นไปอีก 1 ระดับ เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองด้วย
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงกว่าในสายการบังคับบัญชานั้นเป็นผู้พิจารณาแทน
ให้คณะกรรมการตรวจสอบร่วมกับเลขาธิการเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน
5. ในกรณีที่พนักงานได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานหรือทำงานในโครงการพิเศษ ซึ่งหัวหน้าคณะทำงานหรือหัวหน้าโครงการมิใช่ผู้บังคับบัญชาของพนักงาน ให้ผู้ประเมินตาม 4. ขอความเห็นเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของพนักงานจากหัวหน้าคณะทำงานหรือหัวหน้าโครงการนั้นด้วย
6. ในกรณีที่พนักงานเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ส่วนงาน หรือผู้บังคับบัญชา ระหว่างปี ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานในส่วนที่พนักงานมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานในส่วนนั้นมากที่สุด เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน ในกรณีที่ระยะเวลาปฏิบัติงานในส่วนเดิมกับส่วนปัจจุบันเท่ากัน ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานในส่วนปัจจุบันเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน
7. ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่จัดให้มีการประเมินและจัดเก็บผลการประเมินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือในรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม และให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมิน ให้ผู้ประเมินและพนักงานแต่ละคน ร่วมกันวางแผนการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและ/หรือความสำเร็จของงานซึ่งพนักงานผู้นั้นต้องรับผิดชอบในรอบการประเมินนั้น โดยกำหนดความสำเร็จของงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือหลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงาน รวมทั้งระบุพฤติกรรมในการทำงานที่คาดหวังด้วย
(2) ในระหว่างรอบการประเมิน ให้ผู้ประเมินนัดหมายพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานตามแผนการปฏิบัติงาน รวมทั้งให้คำปรึกษา สอนงาน (Coach) และให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) อย่างเหมาะสมและทันเวลา เมื่อเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและทันการณ์
(3) เมื่อครบรอบการประเมิน
(ก) ให้ผู้รับการประเมิน ทำการประเมินตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก่อน แล้วจึงให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือผู้ประเมินนัดหมายพูดคุยกับผู้รับการประเมิน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงและรับฟังกัน เพื่อสร้างการยอมรับและความโปร่งใสในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน
(ข) เมื่อผู้ประเมิน ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเสร็จสิ้นและผ่านการกลั่นกรองโดยผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชาแล้ว ผลการประเมินจะถูกนำส่งไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อรวบรวม โดยในกรณีผลการประเมินที่รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส หรือผู้ช่วยเลขาธิการ เป็นพนักงานผู้ได้รับการประเมิน ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเสนอผลการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ส่วนกรณีผลการประเมินอื่น ให้เสนอต่อคณะกรรมการด้านบริหารงานบุคคลเพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนที่จะเสนอขออนุมัติผลการประเมินต่อเลขาธิการเพื่อนำไปใช้ในการบริหารงานบุคคลต่อไป
(ค) เมื่อผลการประเมินได้รับการอนุมัติแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือผู้ประเมินนัดหมายพนักงานเพื่อแจ้งผลการประเมิน และให้คำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานในการวางแผนการพัฒนาตนเอง แล้วจึงให้พนักงานลงนามรับทราบผลการประเมินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ปรับปรุงล่าสุด 18 มีนาคม 2567