สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดให้มีการพัฒนาบุคลากร ประกอบไปด้วยการพัฒนาความรู้ ศักยภาพ ความสัมพันธ์ รวมไปถึงเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงาน โดยมีแนวทางการพัฒนาพนักงานในด้านหลัก ๆ ดังนี้
1. การเสริมสร้างแนวคิดเพื่อรองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นและในรูปแบบใหม่และมีทักษะความสามารถในการปรับตัว ได้แก่ การสร้าง Agile Mindset และวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรแบบคล่องตัวในการบริหารจัดการงาน รวมถึงการสนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Work from Home โดยมีเครื่องมือการทำงานแบบออนไลน์
2. การพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล ที่เน้นทักษะใหม่ทั้งด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทักษะความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัล
กลุ่มผู้บริหาร มุ่งเน้นการพัฒนาการเป็นผู้นำในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น หลักสูตร Digital Transformation Leadership ณ ประเทศสิงคโปร์ หลักสูตร Digital Business Management หลักสูตร Digital CEO เป็นต้น
กลุ่มพนักงานทั่วไป มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน Digital Literacy, ทักษะด้านคิดวิเคราะห์วิพากษ์ (Analytical and Critical Thinking), ทักษะการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Analytics), ทักษะการสื่อสารด้วยภาพและการเล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ (Visual Communication and Storytelling) และทักษะการป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Awareness)
กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยง การป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber ทักษะการสร้างและพัฒนาระบบงานและแอปพลิเคชัน การพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล ให้คำแนะนำ ตรวจสอบติดตามและประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยการใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล เป็นต้น
3. การพัฒนาภาวะผู้นำ
กลุ่มผู้บริหารระดับสูง การพัฒนาผู้บริหารผ่านการเข้าอบรมในหลักสูตรพัฒนาผู้นำและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.),ผู้บริหารระดับสูงด้านพลังงาน (วพน.) , การป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตร ผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (digital CEO), รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.), การสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่รัฐบาลดิจิทัล (DTP), นักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.), นักบริหารระดับสูง : ผู้มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.), ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.), นักกฎหมายภาครัฐ 4.0 และประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.)
กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและต้น เน้นพัฒนาความรู้ในเรื่องบทบาท รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะสามารถการนำไปใช้ได้ในการบริหารงานและการบริหารบุคลากร เช่น หลักสูตร 4 Roles of Leadership หลักสูตร HR for non HR หลักสูตร Emerging Leader หลักสูตร Situational Leadership เป็นต้น
4. การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงาน (Core Competency)
เน้นการให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศตลาดเงินและตลาดทุน การดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล และภารกิจและหลักการกำกับดูแล ได้แก่ หลักสูตร Regulatory School ที่ ก.ล.ต. ออกแบบและจัดทำขึ้นเอง โดยกำหนดเป็นหลักสูตรต่อเนื่องเน้นกลุ่มพนักงานใหม่และพนักงานระดับต้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งจัดทำความรู้ในรูปแบบหลักสูตรออนไลน์ เก็บรวบรวมที่ระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) ให้พนักงานเข้าเรียนได้ตลอดเวลา
5. การพัฒนาด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน (Functional Competency)
ส่วนงานต่าง ๆ สามารถวางแผนและจัดการพัฒนาพนักงานในสังกัดให้สอดคล้องกับเป้าหมาย แผนงานและสมรรถนะด้าน Functional Skills ของส่วนงาน โดยการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเองได้ นอกจากนี้สำนักงานสนับสนุนการพัฒนาพนักงานในหลักสูตรการอบรมต่างประเทศรวมถึงหลักสูตร online หลากหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตร APEC Financial Regulators Training Initiative, The Regional Leadership Programme for Securities Regulators, หลักสูตร Risk Management Programme for Asian Financial Regulators, หลักสูตร FinTech Programme for Asian Financial Regulators, การเข้าร่วมงานสัมมนา Singapore FinTech Festival, IOSCO Seminar Training Program ในหลากหลายหัวข้อ เช่น “Regtech/Suptech: Using Technology for Regulatory and Supervisory Responsibilities"/ “Securities trading issues and market infrastructure"/ “The Role of Securities Regulators amidst COVID-19", หลักสูตร Cambridge Executive Education on “FinTech and Regulatory Innovation Course"
6. สนับสนุนการแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและองค์กรต่างประเทศ
ในช่วงต้นปี 2563 สำนักงานส่งบุคลากร 1 รายไปเข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศญี่ปุ่นในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ Fellowship Program Global Financial Partnership Center (GLOPAC) โดยโครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์รับบุคลากรในหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินจากทั่วโลก เพื่อพัฒนาความรู้ด้านตลาดการเงินโลกและนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางและจัดโครงสร้างพื้นฐานในด้านงานกำกับดูแล
สำนักงานส่งพนักงานระดับบริหารระดับต้น 1 ราย ไปฝึกปฏิบัติงาน (secondment) กับ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระยะเวลา 2 ปี และทำความตกลงที่จะจัดส่งพนักงานอีก 1 ราย ไปปฏิบัติงานกับ IOSCO Asia Pacific Hub ประเทศมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
7. หลักสูตรด้านการพัฒนาทีมเพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีในการทำงาน ซึ่งมีทั้งการสร้างทีมในระดับฝ่าย และในภาพรวมระดับสำนักงานด้วย
8. การเพิ่มช่องทางการพัฒนาพนักงานด้วยแพลตฟอร์มเรียนรู้ระดับสากล ที่ผู้บริหารและพนักงานสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีทักษะความรู้ใหม่ ๆ ทันโลก ทันสมัย ตอบสนองได้ตามความต้องการในการเรียนรู้ ผ่าน mobile application และคอมพิวเตอร์
9. ก.ล.ต. ยังมีรูปแบบการพัฒนาอื่น ๆ ได้แก่ ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทต่างประเทศ (ในเวลาทำการ ประเภททุนเต็มจำนวน) ประจำปี 2563 ดังนี้
ทุนการศึกษาสาขา Master of Finance ที่ University of Cambridge ประเทศอังกฤษ
ทุนการศึกษาสาขา MSc Management of Information Systems and Digital Innovation ที่ The London School of Economics and Political Science ณ ประเทศอังกฤษ
ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศ (สาขา IT) (นอกเวลาทำการ) ประเภททุนเต็มจำนวน 1 ทุน อยู่ระหว่างสมัครสอบมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการตอบรับจากมหาวิทยาลัย
การปลูกฝังค่านิยมในการทำงานที่เป็นมืออาชีพ โดยวิธีการ จัดกิจกรรมปลูกฝังค่านิยม 4 ด้าน ได้แก่ เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ และซื่อตรง ผ่านการฝึกอบรมสัมมนา SEC Family กิจกรรมพี่น้องล้อมวงคุย ศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ต้านโกงของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น รวมทั้งมีการประเมินความเข้าใจและการแสดงออกพฤติกรรมตามค่านิยมทั้ง 4 ด้านในปี 2563 ซึ่งได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 95 ก.ล.ต.
สำนักงาน ก.ล.ต. มีการจัดอบรมสัมมนา SEC Family สู่เส้นทางการทำงานให้แก่พนักงานใหม่ ประจำปี 2563 ทั้งหมด 3 รุ่น ระหว่างวันที่ 6 – 8 และ 20 - 22 สิงหาคม และ 10-12 กันยายน 2563 เพื่อถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ และซื่อตรง รวมถึงแนวทางการทำงานแบบรุก รวดเร็ว รอบคอบ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในยุคของ VUCA World พร้อมทั้งความสำคัญของการสื่อสาร โดยใช้หลักของ Facilitator กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรม และเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมอง และตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่านิยม “ซื่อตรง" ที่เป็นจุดแข็งของคน ก.ล.ต.
SEC Family รุ่นที่ 1 วันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2563
SEC Family รุ่นที่ 2 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม 2563
SEC Family รุ่นที่ 3 วันที่ 10 - 12 กันยายน 2563
มีการนำคณะผู้บริหารและพนักงาน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต้านโกง เพื่อเรียนรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมรูปแบบกลโกงและชั้นเชิงการทุจริตที่มีความซับซ้อน และนำมาประยุกต์ใช้การทำงานที่ยึดมั่นในความซื่อตรง ณ พิพิธภัณฑ์ต้านโกง สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและความผูกพันบุคลากร ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ กิจกรรมการปลูกฝังค่านิยมองค์กร (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) และแนวทางการทำงาน 4 ร. (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ) กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งในมิติของการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมกิจกรรมวันสำคัญของชาติหรือวันสำคัญตามประเพณี (เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสงกรานต์ เป็นต้น)
การดูแลและช่วยเหลือสังคม ในปีที่ผ่านมามีการดำเนินกิจกรรมเพื่อร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม ดังนี้
1) กิจกรรมบริจาคโลหิต สำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีกิจกรรมบริจาคโลหิต ณ สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ที่ต้องการโลหิตในการรักษา ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี
2) ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยมอบผ่านวัดเสมียนนารี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแจกจ่ายข้าวสาร อาหารแห้งให้แก่ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิท-19 นอกจากนี้ยังมีการบริจาคอาหารกล่องและน้ำดื่มจำนวน 300 ชุด ให้แก่สำนักสำนักงานจตุจักรเพื่อมอบให้กับประชาชนในเขตจตุจักรที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
3) มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์
สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชน จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมจำนวน 12 คน ของโรงเรียนเสนา “เสนาประสิทธิ์" อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา จำนวน 60,000 บาท เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว
4) ศึกษาดูงานธนาคารความดี และกิจกรรมปลูกข้าวดำนา (ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ)
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดให้ผู้บริหารและพนักงานศึกษาดูงาน ธนาคารความดี ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลหนองสาหร่าย จ. กาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจ ในการดึงศักยภาพความเป็นผู้นำในตนเองมาร่วมดูแลชุมชน โดยการเยี่ยมชมและฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสร้างชุมชนต้นแบบของชาวบ้านที่ช่วยกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของชุมชน การดูแลและยกระดับความสุขของชุมชนในมิติต่าง ๆ ที่ดึงชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกครัวเรือน นอกจากนี้ พนักงาน ก.ล.ต. ได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในการปลูกข้าวดำนา และเก็บเกี่ยวข้าวเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่า และเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมเชิงเกษตรในการทำนาอย่างแท้จริง โดยร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านในชุมชน
5) ร่วมกับชาวบ้านชุมชนไทรน้อย อยุธยา ปรับภูมิทัศน์และปลูกต้นไม้ ณ บริเวณวัดมหาอุตม์ จังหวัดอยุธยาเพื่อให้บริเวณวัดมหาอุตม์พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน โดยร่วมกันปลูกต้นมะตาด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นของชาวมอญที่อาศัยในชุมชนไทรน้อย ต้นทองอุไร และต้นจำปา รวม 400 ต้น บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่
6) ร่วมกับชาวบ้านชุมชนบ้านสวนขวัญในการทำกระถางเพาะกล้าจากผักตบชวา ทำแปลงผัก ณ บ้านสวนขวัญ จ. ลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรที่กำลังได้รับความสนใจ
7) สนับสนุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิมนุษยชน และนโยบายในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยได้จัดตั้งร้านกาแฟ Café Amazon for Chance ในรูปแบบเพื่อสังคม ในที่ทำการของสำนักงาน เพื่อให้บริการแก่พนักงานและผู้มาติดต่อ ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการทางการได้ยินและออทิสติกที่ได้รับการฝึกอาชีพเป็นบาริสต้า จัดให้ผู้พิการทางสายตาและอดีตผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษแล้วและได้รับการฝึกสอนด้านการนวดดัดจัดสรีระและสมัครใจมาประกอบอาชีพกับบ้านกึ่งวิถี SHE (Social Health Enterprise) มาให้บริการผู้บริหารและพนักงานเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โดยได้มีการดำเนินการตลอดปี 2563 นอกจากนี้ สำนักงานยังมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ (กระเป๋าผ้าขาวม้า) จากศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เพื่อจัดทำเป็นชุดต้อนรับพนักงานใหม่และนักศึกษาฝึกงาน
การประเมินผลบุคลากร ในปี 2563 สำนักงาน ก.ล.ต. มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (performance management system) ในการประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากร ให้พนักงานตั้งเป้าหมายและ KPI ของตนเอง เสนอผู้บังคับบัญชา กำหนดเป็น KPI ร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความชัดเจนโปร่งใส เชื่อมโยงเป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานที่ได้ถ่ายทอดลงไปสู่ระดับบุคคล ที่จะทำให้ผลงานรายบุคคลมีส่วนสนับสนุนให้องค์กรประสบความสำเร็จ
โดยปี 2563 สำนักงานกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน ครั้งที่ 1 ผลงานช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน พนักงานและผู้บังคับบัญชากำหนดเป้าหมาย และ KPI ร่วมกัน เดือนมิถุนายน ประเมินผลงานครึ่งปีแรก และให้มีการ Feedback เดือนกรกฎาคมทบทวนเป้าหมายการทำงานครึ่งปีหลัง ครั้งที่ 2 ผลงานช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม เดือนพฤศจิกายน ประเมินผลครึ่งปีหลัง และ Feedback เดือนธันวาคมประเมินประจำปี 2563 และตัดเกรดคะแนนเพื่อใช้กำหนดอัตราขึ้นเงินเดือนประจำปี
ในการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานคำนึงถึงความเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความเป็นธรรม รวมถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ประกอบด้วย (1) เงินเดือนพื้นฐานที่จ่ายให้พนักงานตามระดับตำแหน่ง รวมถึงประสบการณ์และความซับซ้อนของงาน และสภาวะตลาดในประเทศ โดยยึดหลักความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร (2) ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ๆ ที่จ่ายให้ตามลักษณะงาน เช่น เงินค่าวิชาชีพ เงินรางวัลประจำปี (3) สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่น ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารถประจำตำแหน่ง ค่าการสื่อสาร เป็นต้น
สำนักงาน ก.ล.ต. มีการศึกษาโครงสร้างเงินเดือนที่แข่งขันได้ มีการปรับปรุงสวัสดิการ เช่น เพิ่มวันลาคลอดบุตร การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มอัตราเงินสมทบของนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงาน เพิ่มงบประมาณในการพัฒนาพนักงานและทุนการศึกษา ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนา โดย ในกระบวนการ Performance Management มีการทบทวนผลประเมินของพนักงาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาพูดคุยและวางแผนการพัฒนาร่วมกับพนักงาน ต่อยอดเป็นแผนการจัดทำ Individual Development Plan (IDP) มีการวางแผนกำลังคน โดยทำโครงการ strategic staffing analysis เพื่อวางแผนอัตรากำลังที่เหมาะสมเพื่อรองรับและสอดคล้องกับทิศทางและพันธกิจองค์กรใน 3-5 ปีข้างหน้า