หลักในการดำเนินงาน
ก.ล.ต. มีนโยบายที่จะทำหน้าที่พัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน (stakeholders) ทั้งด้าน ผู้ลงทุน ภาคธุรกิจ และประชาชน สามารถลงทุน ระดมทุน ประกอบธุรกิจ หรือใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้อย่างเชื่อมั่น ตามความต้องการที่แตกต่างกัน รวมทั้งเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพของตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การทำหน้าที่ดังกล่าว ต้องอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง โปร่งใส เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือกับทุกภาคส่วน
หลักในการกำกับดูแลตลาดทุน (Principle of Good Regulations)
ก.ล.ต. ได้วางหลักการของการกำกับดูแลตลาดทุนที่ดี เพื่อเป็นหลักในการดำเนินงานไว้ ดังนี้
1. มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Outcome focus)
ก.ล.ต. มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความจำเป็นของ stakeholder ได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการที่ stakeholder เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นกระบวนการ และใช้มุมมองในการทำงานแบบ outside-in
2.
เป็นไปเพื่อความยั่งยืน (Sustainable growth)
ก.ล.ต. มีเป้าหมายในการเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนของตลาดทุนไทยมีความความสัมพันธ์ รับผิดชอบ ตอบรับความต้องการของกันได้อย่างสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
3. เสริมสร้างการแข่งขันและนวัตกรรมที่รับผิดชอบ ( Promote Responsible Innovation and Competition)
ก.ล.ต. มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างปัจจัยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถแข่งขัน และมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้อย่างรับผิดชอบ ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน
4. เคารพความต้องการของผู้มีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน (Recognizing the Differences)
ก.ล.ต. ตระหนักว่า ผู้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนแต่ละกลุ่มมีความต้องการ และความพร้อมที่แตกต่างกัน และจะคำนึงถึงความแตกต่างนั้นในการออกแบบมาตรการ/กฎเกณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ร่วมกัน
5. สมเหตุสมผล (Proportionality)
ก.ล.ต. จะเลือกใช้มาตรการ/กฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพ ปัญหา (สมเหตุ) โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับต้องมากกว่าต้นทุน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่ามาตรการ/กฎเกณฑ์ดังกล่าวจะสามารถนำไปสู่ผลที่คาดหวังได้ (สมผล) รวมทั้งมีการทบทวนความเหมาะสมของมาตรการ/กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะ ๆ ด้วย
6. ชัดเจน ปฏิบัติได้ (Clear, Simple, and Practical for Users)
ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญกับการออกมาตรการ /กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ ในรูปแบบและช่องทางที่เข้าถึงได้สะดวก และคำนึงถึงความสามารถในการนำไปปฏิบัติได้จริง
แนวทางและมาตรการที่ใช้
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ก.ล.ต. ติดตามปัจจัย สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า แนวทางหรือมาตรการที่ใช้ในการกำกับดูแลมีความเหมาะสมอยู่เสมอ มาตรการดังกล่าวรวมถึง
การใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (regulatory discipline) ซึ่งรวมถึง การออกหรือทบทวนกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม การพิจารณาคำขออนุญาตหรือใบอนุญาตต่างๆ การให้เปิดเผยข้อมูล การติดตามดูแลผู้ประกอบธุรกิจ การตรวจสอบการกระทำผิด การลงโทษ บังคับใช้กฎหมาย
การสร้างกลไกตลาดที่แข็งแรง (market discipline) ที่เอื้อให้ภาคธุรกิจเกิดการแข่งขันในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน และผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิดูแล ตัดสินใจ รักษาประโยชน์ของตน ตลอดจนเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการปฏิบัติที่ดีได้
การกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ วินัยในตนเอง (self discipline) ซึ่งรวมถึง การเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good corporate governance) ของกิจการในตลาดทุน การให้ความรู้ผู้ลงทุน การให้รางวัลต่าง ๆ เป็นต้น
ก.ล.ต. มีนโยบายที่จะใช้อำนาจออกกฎบังคับตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความเป็นธรรมในตลาดทุน โดยมีนโยบายจะใช้เฉพาะเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการอื่นให้ได้ผลตามที่มุ่งหวังแล้วเท่านั้น และจะใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้สามารถพัฒนา ตอบสนองความต้องการ และแก้ปัญหาของผู้มีส่วนร่วมได้อย่างได้ผล สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วย
ก.ล.ต. ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) เพื่อให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. จะปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน และสังคมโดยรวม ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ก.ล.ต. เคารพและปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ที่ครอบคลุมในเรื่อง ดังนี้
1. โครงสร้างการบริหาร กำกับดูแลที่น่าเชื่อถือ
ซึ่งรวมถึงหลัก
ความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability)
ความสำนึกในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ (Responsibility)
การดำเนินงานด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ (Transparency)
คุณธรรม จริยธรรม (Moral and ethics)
2. การบริหารจัดการ การปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์
ซึ่งรวมถึงหลัก
ความมีประสิทธิผล (effectiveness) ประสิทธิภาพ (efficiency) ตอบสนอง และสร้างคุณค่าให้ผู้มีส่วนได้เสีย (responsive and value creation)
ความเคารพในสิทธิและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างสุจริตและเท่าเทียมกัน (Equitable Treatment)
รวมถึงการให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม (Participation)
แนวทางธรรมาภิบาล ก.ล.ต.
จรรยาบรรณพนักงาน
จรรยาบรรณ ข้อกำหนด และวิธีปฏิบัติในการใช้คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารของสำนักงาน ก.ล.ต.
การตรวจสอบภายใน
ฝ่ายตรวจสอบภายในมีภารกิจในการให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษากับคณะกรรมการและฝ่ายบริหารเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในตามฐานความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่ดี อย่างเป็นอิสระ เที่ยงธรรม และรู้จริง เพื่อเสริมสร้างให้การดำเนินงานของสำนักงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการให้ข้อเสนอแนะในด้านการปรับปรุงการปฏิบัติงานของสำนักงานให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้สำนักงานบรรลุพันธกิจ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนด้วยการตรวจสอบ ประเมินและปรับปรุงประสิทธิผล ของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการปฏิบัติ ตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ (กฎบัตรของฝ่ายตรวจสอบภายใน)
ประมวลจริยธรรมสำนักงาน ก.ล.ต.
นโยบาย
เพื่อให้การดำเนินงานของ ก.ล.ต. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ เป็นไปอย่างโปร่งใส มีมาตรฐาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ได้วางนโยบายในด้านต่างๆ ให้มีการนำไปปฏิบัติ
นโยบาย ก.ล.ต. องค์กรปลอดคอร์รัปชัน
เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินงานของ ก.ล.ต. เป็นไปด้วยความซื่อตรง โปร่งใส และปลอดจากการคอร์รัปชัน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม นโยบาย ก.ล.ต. องค์กรปลอดคอร์รัปชัน
นโยบายการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่(No Gift Policy)
เพื่อปลุกการรับรู้และปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส
มีธรรมาภิบาล
และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม
สอดคล้องกับนโยบาย ก.ล.ต. องค์กรปลอดคอร์รัปชันที่กำหนดว่า
สำนักงาน ก.ล.ต.
เป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่
อีกทั้งสอดรับกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ
และแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบว่าด้วยการประกาศนโยบาย
No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงออกคำสั่งไว้ดังนี้
นโยบายการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ก.ล.ต. มีรายได้หลักจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้ระดมทุนในตลาดทุน รวมทั้งดอกผลจากทุนประเดิมและสำรองที่กระทรวงการคลังเห็นชอบให้กันไว้ เพื่อให้ ก.ล.ต. มีเงินเพียงพอในการดำเนินงาน รองรับความผันผวนของรายได้ที่ส่วนมากขึ้นอยู่กับสภาพตลาด
ก.ล.ต. จ้างผู้จัดการลงทุนให้เป็นผู้บริหารเงินลงทุนของสำนักงาน โดย ก.ล.ต. ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย จะกำหนดเพียงนโยบาย และกรอบการลงทุนให้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาวโดยมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดย ก.ล.ต. หรือเจ้าหน้าที่ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อ ขาย ลงทุนในหลักทรัพย์ใดเป็นรายตัว เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสุจริต โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม ก.ล.ต. เชื่อว่า การลงทุนในกิจการที่มีกลยุทธ์การดำเนินงานที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางการเงินของ ก.ล.ต. ดังนั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการ ประกาศรับการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Government Code : I Code) โดยจะกำหนดนโยบายการลงทุนดังกล่าวให้ผู้จัดการลงทุนปฏิบัติ และเลือกผู้จัดการลงทุนประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code เช่นเดียวกันด้วย
ธรรมาภิบาลการลงทุน ก.ล.ต.
นโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ตามที่สำนักงานกำหนดแผนยุทธศาสตร์ตลาดทุน ปี 2567-2569 ให้ความสำคัญกับเป้าหมายในการสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนและสมรรถนะของสำนักงาน (Trust & Confidence) รวมทั้งมีแผนงานสำคัญเพื่อยกระดับบทบาทของสำนักงานในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทำให้ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกลไกสำคัญสู่ความยั่งยืน และผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี
ทั้งนี้ ในการดำเนินการให้สำนักงานมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการตามแผนงานและพันธกิจดังกล่าว อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน สำนักงานได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์องค์กรในการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และการนำพัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับศักยภาพการทำงานของสำนักงาน เพื่อสนับสนุนแผนงานและเป้าหมายดังกล่าว โดยเน้นการวางระบบบริหารบุคคล และการเตรียมจำนวนบุคลากรให้เพียงพอและมีความพร้อมสำหรับบทบาทงานตามพันธกิจ และขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายที่วางไว้
นโยบายการจัดการน้ำเสีย
และการประหยัดน้ำ
เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้นแบบในการจัดการน้ำเสียตามโครงการ “อาคารราชการต้นแบบในการจัดการน้ำเสีย" ประจำปีงบประมาณ 2563 และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญด้านการจัดการน้ำเสีย สำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดนโยบายด้านการจัดการน้ำเสียและการประหยัดน้ำ