5. หุ้นกู้ที่มี rate กับหุ้นกู้ unrated หุ้นกู้ที่ได้รับเครดิตเรทติ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรทติ้งระดับลงทุน (Investment Grade) หรือต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) ก็ถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง สามารถนำเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปได้ (Public Offering) หากบริษัทได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. อ้อ! หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “จังก์บอนด์ (Junk Bond)" กันมาบ้าง มันคือหุ้นกู้ระดับไหนนะ กัปตัน ก.ล.ต. ขอแถมให้เป็นความรู้ตรงนี้นะครับ มันคือระดับ Non-Investment Grade หรือเรทติ้งต่ำกว่า BBB- นั่นเองครับ ในตลาดตราสารหนี้ นอกจากเราจะคุ้นกับหุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง (Rated Bond) แล้ว ยังมีหุ้นกู้อีกประเภท คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรือ #Unrated Bond แล้วเมื่อหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง #Unrated Bond จะน่าลงทุนเหรอ ใครควรลงทุนได้บ้าง มาดูกันต่อครับ ทำไมหุ้นกู้ถึงไม่มีเรทติ้ง ถ้าซูมภาพกลับไป #Unrated Bond มีได้ 2 กรณี คือ (1) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับ กับ (2) เป็นหุ้นกู้ที่ขอให้จัดอันดับแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา เมื่อไม่มีเรทติ้งแปะป้ายให้เห็น และผู้ลงทุนก็ไม่รู้หรอกว่าเป็น #Unrated Bond ประเภทหุ้นดีแต่ไม่เข้าประกวด หรือหุ้นกู้ที่เข้าประกวดแล้วไม่ได้ไปต่อ ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องคิดไว้เลยว่า หุ้นกู้ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง และแน่นอนว่า มันจะให้ผลตอบแทนสูงในคราวเดียวกัน ตามกฎธรรมชาติของ #HighRiskHighReturn แล้วทำไม ก.ล.ต. ไม่ห้ามออก Unrated Bond เลย ถ้ารู้ว่าของแบบนี้เสี่ยงสูง เรื่องนี้ต้องตอบว่า เพราะผู้ลงทุนแต่ละคนมีความชอบความเสี่ยง (risk appetite) ไม่เหมือนกัน การการเปิดกว้างให้ให้ผู้กู้ออก Unrated Bond ได้ เพื่อให้เขามีช่องทางระดมทุน จากผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น สิ่งที่ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยในเรื่องนี้คือ นอกจากการบอกให้ผู้ลงทุนรู้ว่า หุ้นกู้นี้ไม่มีเรทติ้งแล้ว ก็ยังให้หุ้นกู้ประเภทนี้ขายให้กับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ มีเวลาศึกษาข้อมูล รู้จักลักษณะ Unrated Bond จริง ๆ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน บุคคลที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป (ไฮเน็ตเวิร์ธ) และการเสนอขายให้เฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) ส่วนผู้ลงทุนทั่วไป ถ้าอยากจะซื้อ Unrated Bond ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนใน Unrated Bond เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยง และมีผู้จัดการกองทุนรวมที่เป็นมืออาชีพช่วยดูแล สำหรับวิธีลงทุน Unrated Bond ผ่านกองทุนรวม กัปตันฯ ก็อยากให้อ่านใน Fund Factsheet หลัก ๆ 3 จุด คือ (1) ข้อมูลบอกว่ากองทุนนั้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งแต่ละประเภทกี่เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีการกระจุกตัวเกิน 20% ก็ต้อง highlight ขึ้นมา (2) ดูชื่อหุ้นกู้ที่กองทุนรวมไปลงทุน ซึ่งจะมีรายชื่อ 5 อันดับแรก ดูซิว่าพอคุ้น พอรู้จัก และได้ rating เท่าใด และ (3) ถ้ากองทุนรวมนั้นลงในหุ้นกู้ที่เสี่ยงมาก ๆ ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม (risk spectrum) ก็จะสูงกว่าระดับ 4 (เป็นระดับปกติของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้) ซึ่งอาจะสูงไปถึงระดับ 5-6 เทียบเท่ากับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นได้เลยนะครับ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนประเภทใด หากจะลงทุนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ Unrated Bond ขอให้ดูที่อัตราส่วนทางการเงินเพื่อดูสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทด้วย และนี่คือตอนสุดท้ายของซีรีส์ “ซื้อหุ้นกู้ต้องดูเรทติ้ง" ที่ต้องติ่งไว้นิดนึงว่า เรทติ้งบอกให้รู้คุณภาพหุ้นกู้ แต่การลงทุนในหุ้นกู้ อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยงอื่นประกอบด้วย เช่น interest rate risk liquidity risk market risk |