Sign In
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหุ้นกู้

​​​

​​​​   
​​



​​


1. หุ้นกู้เป็นเงินฝากแบบหนึ่ง?หุ้นกู้ไม่ใช่เงินฝาก! 
แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเหมือนกัน.. หุ้นกู้ไม่มีการรับประกันผลตอบแทนและเงินต้น เพราะมีความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้อาจเกิดวิกฤติ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนผู้ลงทุนได้​​​


2. ผู้ขายหุ้นกู้คือผู้ออกหุ้นกู้นั้น?​
หุ้นกู้ที่ซื้อที่ธนาคารอาจไม่ใช่หุ้นกู้ที่ธนาคารนั้นเป็นผู้ออก ฉะนั้นต้องดูความเสี่ยงที่ผู้ออก ไม่ใช่ผู้ขาย


​​
3. หุ้นกู้ rating ดี ไม่มีความเสี่ยง? และ Rating ไม่สามารถเปลี่ยนได้..ตอนซื้อเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นไปจนครบกำหนดไถ่ถอน?
หุ้นกู้ที่ rating ดี เช่น rating AA- ขึ้นไป ก็ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แต่มีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ rating ต่ำกว่า และแท้จริงแล้ว rating หุ้นกู้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น หากบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นมีความเสี่ยงในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น rating อาจถูกปรับลดลง ดังนั้น หุ้นกู้ rating BBB- ต้องระวัง! เพราะถ้ามีปัญหามากระทบความสามารถในการชำระหนี้และอันดับเครดิตถูกปรับลดจะกลายเป็นหุ้นกู้ที่เป็น Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไรทันที ซึ่งจะถือเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง​





4. หุ้นกู้มีอัตราผลตอบแทนสูงดีกว่าหุ้นกู้ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ?
หุ้นกู้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงหมายถึงหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน (high risk, high return)ดังนั้นนักลงทุนควรจะประเมินความเสี่ยงที่รับได้ และเลือกหุ้นกู้ที่เหมาะสมกับตน​












5. หุ้นกู้ที่เสนอขายผู้ลงทุนรายใหญ่หรือผู้ลงทุนรายย่อยทุกตัวต้องผ่านการพิจารณาของ ก.ล.ต. จึงเป็นการรับประกันว่าลงทุนได้ปลอดภัย?
หุ้นกู้ที่เสนอขายผู้ลงทุนรายใหญ่หรือผู้ลงทุนรายย่อยนั้นจะผ่านการพิจารณาจาก ก.ล.ต. แต่เป็นเพียงการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ออกในเบื้องต้น โดยหลักการกำกับของ ก.ล.ต. มีดังนี้
1.) การกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ออกในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ผู้ออกที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือมีกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจสามารถระดมทุนได้ เช่น ผู้ออกอยู่ระหว่างค้างส่งงบการเงิน  ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงิน ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบ เป็นต้น
2.)  การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ที่เสนอขาย โดย ก.ล.ต.กำหนดข้อมูลขั้นต่ำที่บริษัทจะต้องเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนก่อนการเสนอขาย เช่น ข้อมูลบริษัท ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของหุ้นกู้ ความเสี่ยงเกี่ยวกับหลักประกัน (ถ้ามี) และข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ ซึ่งข้อกำหนดสิทธินี้จะกำหนดเงื่อนไขระหว่างผู้ถือและผู้ออกหุ้นกู้ โดยรวมถึงเงื่อนไขในกรณีที่ผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้ได้ด้วย ภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้มีผู้ที่สนใจลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เท่าเทียมกัน เพื่อใช้ตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ก.ล.ต. ได้กลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อผู้ลงทุนจะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจลงทุนร่วมกับการพิจารณาข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่บริษัทเปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน แต่การกลั่นกรองของ ก.ล.ต. ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า การลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลตราสารหนี้ และตัดสินใจลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง
 
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ก.ล.ต.จะไม่มีอำนาจในการบังคับให้ผู้ออกชำระหนี้หรือชดใช้เงินคืนให้ผู้ลงทุนได้ แต่จะมีหน้าที่ตรวจสอบหากมีข้อสงสัยว่า การผิดนัดเกิดจากการทำทุจริตผิดกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งหากตรวจพบ ก็จะมีการลงโทษตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. ดังนั้น การเรียกร้องขอชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนต้องไปดำเนินการเรียกร้องความเสียหายตามกระบวนการทางศาลเอง​

​​​​​