Detail Content
การกำกับรายงานทางการเงินและผู้สอบบัญชี
ก.ล.ต. กับการยกระดับการกำกับดูแลคุณภาพการสอบบัญชี
ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกำกับและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของผู้สอบบัญชี ซึ่งตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีรายบุคคล โดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีที่ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็น "ผู้สอบบัญชีในตลาดทุน" ต้องผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติจาก ก.ล.ต. และต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะต้องทำหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด ทั้งนี้ สำหรับมาตรการลงโทษผู้สอบบัญชี ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และประกาศที่เกี่ยวข้อง มีทั้งมาตรการทางปกครอง ได้แก่ การสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ตามประกาศว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน เช่น กรณีพบพฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เป็นต้น และการลงโทษทางอาญา ได้แก่ โทษจำคุก และ/หรือโทษปรับ ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เช่น กรณีทำรายงานเท็จ ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ให้กระทำความผิด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กลไกการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันควรได้รับการทบทวน ในปี 2562 ก.ล.ต. ได้จัดให้มีการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนในระดับที่เป็นการกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชี ซึ่ง ก.ล.ต. ยังไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลในส่วนนี้ และต่อมา ก.ล.ต. ได้เสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้ ก.ล.ต. มีอำนาจกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชี โดยการให้ความเห็นชอบ และมีอำนาจในการใช้มาตรการต่าง ๆ กับสำนักงานสอบบัญชีในทำนองเดียวกับการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีรายบุคคลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายที่ ก.ล.ต. เสนอแก้ไขแล้ว
หมายเหตุ: สามารถศึกษาข้อมูล "การกำกับดูแลผู้สอบบัญชี" เพิ่มเติม ได้ที่ การกำกับรายงานทางเงินและผู้สอบบัญชี
ภาพรวมในการยกระดับคุณภาพรายงานทางการเงิน
รายงานทางการเงินถือเป็นข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการในตลาดทุน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และยังมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนไทยด้วย ก.ล.ต. จึงได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพของรายงานทางการเงิน เพื่อให้รายงานทางการเงินที่กิจการในตลาดทุนเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยการดำเนินการของ ก.ล.ต. จะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ
การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
การกำกับดูแลผู้สอบบัญชี
การติดตามดูแลรายงานทางการเงินของกิจการในตลาดทุน
ก.ล.ต. ได้กำหนดให้การจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดขึ้นโดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ และต้องมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นผู้สอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) หรือตรวจสอบ (กรณีงบการเงินประจำปี) รวมทั้งติดตามและตรวจทานงบการเงินของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทุกไตรมาสเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และหาก ก.ล.ต. พบว่า
งบการเงินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง จะสั่งให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทำการแก้ไขงบการเงินให้ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลการสั่งแก้ไขงบการเงินบนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ในกรณีที่ ก.ล.ต. ตรวจทานงบการเงินแล้วพบว่า บริษัทที่ออกหลักทรัพย์มีการทำธุรกรรมที่อาจมีข้อสงสัยว่าผิดปกติ หรือกรณีอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาของหลักทรัพย์ของบริษัท ก.ล.ต. ก็อาจสั่งให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จัดหาผู้สอบบัญชีเพื่อทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ และรายงานให้ ก.ล.ต. ทราบ ซึ่งการสั่งการดังกล่าว ก.ล.ต. จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบด้วยเช่นกัน