กฎกระทรวง
ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ.
2535
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา
90 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บริษัทหลักทรัพย์ใดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภทหนึ่งประเภทใด
คือ (1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (2)
การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (3) การค้าหลักทรัพย์
หรือ (4) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุนแต่ยังไม่ครบทั้งสี่ประเภทอาจขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นให้ครบหรือเพิ่มขึ้นบางประเภทได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 บริษัทหลักทรัพย์ที่จะขอรับใบอนุญาตตามข้อ
1 ต้อง
2.1 ไม่เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น
2.2 ไม่มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งรายใดเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเก้าสิบเก้าขึ้นไปของทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว
ในวันที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ
2.3 ไม่ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์หนึ่งบริษัทหลักทรัพย์ใดตั้งแต่ร้อยละเก้าสิบเก้าขึ้นไปของทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว
ในวันที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ
2.4 ไม่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เกิดจากการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันของบริษัทหลักทรัพย์ที่มีลักษณะต้องห้ามตาม
(2.3)
2.5 ไม่มีฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
เห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์นั้นประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง
โดยพิจารณาจาก
•
ผลต่างระหว่างสินทรัพย์สุทธิกับหนี้สินสุทธิเมื่อเปรียบเทียบกับทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์นั้นต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดตามมาตรา
96 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
2535
•
ผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานในระยะเวลาสามปีติดต่อกันย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอ
• การดำเนินการของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อแก้ไขฐานะและผลการดำเนินงานตามที่คณะกรรมการก.ล.ต.
เห็นชอบ (ถ้ามี)
•
กรณีอื่นใดที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ในลักษณะที่จะทำให้ประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง
2.6 ไม่เป็นบริษัทที่ไม่เปิดทำการตามวันเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา110แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
2535ในขณะที่ยื่นคำขอ
ข้อ 3 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มเติมยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามแบบ 90-6 ท้ายกฎกระทรวงนี้
พร้อมด้วยสำเนาสองชุดต่อคณะกรรมการก.ล.ต.โดยยื่นผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ให้บริษัทหลักทรัพย์ยื่นพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) แผนการดำเนินงานระยะเวลาสามปีของบริษัทหลักทรัพย์ในธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่จะขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติม
(2) งบการเงินในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
(ถ้ามี)
(3) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีอยู่เดิม
(4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฉบับปัจจุบัน
ซึ่งออกโดยสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์
(5) หลักฐานหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้รับคำขอตามข้อ
3 และพิจารณาเห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์ที่ยื่นคำขอเป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 1 และข้อ 2
ให้คณะกรรมการ
ก.ล.ต.เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและให้รัฐมนตรีพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5 ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามข้อ 6
ในวันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ 6 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา
ดังนี้
(1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
500 บาท
(2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
100,000,000 บาท
(3) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
100,000,000 บาท
(4) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์
50,000,000 บาท
(5) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
50,000,000 บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.
2539
(นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง