ข้อ 2 ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) ประกอบธุรกิจมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
เว้นแต่เป็นบริษัทดังต่อไปนี้
1.1 บริษัทที่เกิดจากการควบบริษัทเข้ากันของนิติบุคคลตามข้อ
1(1) (2) หรือ (3)
1.2 บริษัทหลักทรัพย์ที่เกิดจากการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและการประกอบธุรกิจ
หลักทรัพย์ออกจากกัน
1.3 บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม
1.4 บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามข้อ
1(4)
(2) ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานดีตามสภาพและประเภทธุรกิจ
(3) มีหน่วยงานเฉพาะหรือแสดงได้ว่าจะจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์หรือวิจัยทางเศรษฐกิจที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการหรือให้บริการ
โดยพิจารณาจากจำนวนและคุณสมบัติของนักวิเคราะห์ ระบบฐานข้อมูล
อุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเป็นสำคัญ
และในกรณีที่มีหน่วยงานดังกล่าวอยู่แล้วจะพิจารณาจากอายุของหน่วยงานและผลงาน
การวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือการวิจัยทางเศรษฐกิจด้วย
(4) แสดงได้ว่าจะมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกองทุนส่วนบุคคลที่รับจัดการกับผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น
และมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
โดยพิจารณาจากแผนงานในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบงานด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ที่เป็นเอกเทศแยกจากหน่วยงานอื่นของผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น การจัดองค์กรบริหารงาน
ด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
การดำเนินงานภายในหน่วยงานเพื่อให้บุคลากรที่รับผิดชอบการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานการจัดเก็บเอกสารของหน่วยงานซึ่งต้องแยกเป็นสัดส่วนโดยมีผู้รับผิดชอบโดยตรง
และมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนและรัดกุมในการควบคุมเอกสาร
และในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคลกับหน่วยงานอื่นของผู้รับใบอนุญาตนั้น
ข้อ 3 ในการพิจารณาฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานตาม ข้อ
2(2) ให้พิจารณา จากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ส่วนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์ในขณะที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องมีจำนวนขั้นต่ำดังนี้
1.1 กรณีเป็นธนาคารพาณิชย์
ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท
1.2 กรณีเป็นบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท
และมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่าห้าพันล้านบาท
1.3 กรณีเป็นบริษัทหลักทรัพย์
ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท
1.4 กรณีเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท
และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท
1.5 กรณีเป็นนิติบุคคลตามข้อ 1(5) ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์ตามจำนวนที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(2) คุณภาพในการบริหารงานและความสามารถในการหารายได้ซึ่งต้องพิจารณาเกี่ยวกับกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมและกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้
โดยให้พิจารณาจากงบการเงินและรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในระยะเวลาสามปีก่อนปีที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
และงบการเงินและรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานประจำงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนล่าสุด
ที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
ของนิติบุคคลนั้นเป็นสำคัญ
(3) การปฏิบัติตามกฎหมายและประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น
ในระยะเวลาสามปีก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ยื่นคำขอ
ข้อ 4 ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลตามข้อ
1(1) (2) หรือ (3) ที่เกิดจากการควบบริษัทเข้ากันของนิติบุคคลตามข้อ 1(1) (2) หรือ (3)
และได้ประกอบธุรกิจมาเป็นเวลาน้อยกว่าสามปี
การพิจารณาคุณสมบัติเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานตามข้อ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(1) ให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตในขณะที่ยื่นคำขอ
และในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(2) และ (3) ให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต
นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจจนถึงวันที่ยื่นคำขอ ประกอบกับพิจารณา
ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานตามข้อ 3(2) ของนิติบุคคลที่ควบบริษัทเข้ากันจนครบระยะเวลาสามปี
ก่อนปีที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ให้นำความในข้อ 3(2) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 5 ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลตามข้อ
1(3) ที่เกิดจากการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกัน
และได้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มาเป็นเวลาน้อยกว่าสามปีการพิจารณาคุณสมบัติเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานตามข้อ
3 ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(1) ให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตในขณะที่ยื่นคำขอ
และในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(2) และ (3) ให้
พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตนับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จนถึงวันที่ยื่นคำขอ
ประกอบกับพิจารณาฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานตามข้อ 3(2) ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เดิมจนครบระยะ
เวลาสามปีก่อนปีที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ 3(2) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 6 ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลตามข้อ
1(3) ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
และได้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มาเป็นเวลาน้อยกว่าสามปี ให้ได้รับยกเว้นการพิจารณาคุณสมบัติเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน
และผลการดำเนินงานตามข้อ 3(1) และ (2) และให้พิจารณา
เฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมายและประวัติการกระทำความผิดตามข้อ 3(3) ของบริษัทหลักทรัพย์นั้นนับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จนถึงวันที่ยื่นคำขอ
ข้อ 7 ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลตามข้อ
1(4) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลดังกล่าวเป็นนิติบุคคลตามข้อ
1(1) (2) หรือ (3) ในขณะที่ยื่นคำขอ
ให้พิจารณาคุณสมบัติเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน
และผลการดำเนินงานของผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลดังกล่าวทุกราย
โดยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(1) ให้พิจารณา
คุณสมบัติในขณะที่ยื่นคำขอและในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 3(2) และ (3)
ให้พิจารณาคุณสมบัติในระยะเวลาสามปี
ก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ยื่นคำขอทั้งนี้ ให้นำความในข้อ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 8 ให้ผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ยื่นคำขอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ตามแบบและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ให้ยื่นพร้อมด้วยสำเนาคำขอสองชุดหลักฐานประกอบคำขอที่แสดงว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
และหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 9 ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาคำขอตามข้อ
8 ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและหลักฐาน
ครบถ้วนในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนด
ในกฎกระทรวงนี้และเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าสมควรออกใบอนุญาต
ให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้เป็นไปตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 10 ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะออกให้แก่นิติบุคคลตามข้อ 1(4) ได้เฉพาะเมื่อนิติบุคคลนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นแล้ว
ข้อ 11 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะเริ่ม
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์หรือวิจัยทางเศรษฐกิจตามข้อ 2(3) และจัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกองทุนส่วนบุคคลที่รับจัดการกับผู้ได้รับใบอนุญาตตามข้อ
2(4) แล้ว
ข้อ 12 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา
ดังนี้
(1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล คำขอละ 10,000 บาท
(2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ปีละ 1,000,000 บาท
ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตล่วงหน้าเป็นรายปีตามปีปฏิทิน
โดยชำระก่อนวันเริ่มปีปฏิทินนั้น
เว้นแต่ในปีแรกให้ชำระค่าธรรมเนียมในวันที่ได้มีการออกใบอนุญาต โดยให้คิด
ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ในปีปฏิทินที่ได้มีการออกใบอนุญาตนั้น
ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดหรือชำระค่าธรรมเนียมไม่ครบถ้วนต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกร้อยละสองต่อเดือนของค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ
เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือนทั้งนี้จนกว่าจะได้ชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.
2539
(นายบดี จุณณานนท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนของประเทศโดยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่ประสงค์จะลงทุนในหลักทรัพย์สามารถ
มอบหมายให้นิติบุคคลบางประเภทเป็นผู้จัดการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์จากหลักทรัพย์แทนตนได้
สมควรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและ ค่าธรรมเนียมในการขอรับใบอนุญาตและการออก
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลจึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้