กฎกระทรวง
ว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการจัดการกองทุนรวม พ.ศ. ๒๕๔๕
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา
๔๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่
๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ข้อ ๒
ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๓
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวนที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
(๒)
มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งรายใดหรือหลายรายดังต่อไปนี้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(ก)
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หรือ
(ข)
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รายใดรายหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
(๓)
มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เฉพาะประเภทที่ขอรับใบอนุญาตและกิจการอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. อนุญาต
(๔)
แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
(๕)
แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับผิดชอบงานด้านการจัดการกองทุนรวม
ข้อ ๔
ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ ๓
ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑)
ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(๒)
ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาตต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของบุคคลนั้น
หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉลหรือทุจริต
หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
(๓)
ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาตต้องไม่มีประวัติการดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต
หรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าหรือแสดงถึงการขาดความรอบคอบหรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือในกรณีที่ผู้ถือหุ้นตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล
กรรมการและผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน (๒) และ
(๓) ด้วยในกรณีที่ผู้ถือหุ้นตามวรรคหนึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย
หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์
ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนิติบุคคลนั้น
ข้อ ๕
ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ให้ยื่นขอรับความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาและตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ ๖ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่าบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
ข้อ ๗
เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ ๖ แล้ว
ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้รับความเห็นชอบ
และให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต.ประกาศกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับความเห็นชอบมิได้จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่
หรือมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง
ให้การได้รับความเห็นชอบเป็นอันสิ้นสุดลง
ข้อ ๘
ในการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามกฎกระทรวงนี้เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ขอรับใบอนุญาต
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อตรวจสอบฐานะการเงินการดำเนินงาน สินทรัพย์ หรือข้อมูลต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องของผู้ขอรับใบอนุญาต
ข้อ ๙ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามข้อ ๗ เป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.
เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน
และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการก.ล.ต.
ประกาศกำหนด
ข้อ ๑๐
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจะเริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวได้
ต่อเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบแล้วเห็นว่า
ผู้ได้รับใบอนุญาตได้จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่พร้อมจะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้แสดงไว้ในข้อ ๓ แล้ว
ข้อ ๑๑
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมต้องดำรงสัดส่วนการถือหุ้นให้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓(๒)
เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติเป็นประการอื่นได้
ข้อ ๑๒
ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา ดังนี้
(๑) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการจัดการกองทุนรวม คำขอละ ๕๐,๐๐๐
บาท
(๒) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการจัดการกองทุนรวม ๑,๐๐๐,๐๐๐
บาท
ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในวันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ ๑๓
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามกฎกระทรวงฉบับที่
๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕ยังคงประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้
เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตดังกล่าวในปีที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับแล้ว
และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีอีกต่อไปนับแต่ปีถัดจากปีที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๑๔
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมตามกฎกระทรวงฉบับที่
๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ต้องดำรงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและสัดส่วนการถือหุ้นตลอดจนมีผู้ถือหุ้นที่ดำรงคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวต่อไปในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งปฏิบัติเป็นประการอื่นได้
และให้การผ่อนผันที่รัฐมนตรีกำหนดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง