Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า



วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 | ฉบับที่ 151 / 2566


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและทำให้มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ* ในส่วนการใช้หนี้สินด้อยสิทธิในการดำรงเงินกองทุน** ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และ ก.ล.ต. ได้ทบทวนอัตราความเสี่ยง (haircut) ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน และครอบคลุมความเสี่ยงของตราสารต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินลงทุน รวมทั้งปรับปรุงนิยามหนี้สินพิเศษ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยครอบคลุมถึงหนี้สินรายการอื่น ๆ เพิ่มเติม

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  (1) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นโดยไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการนำมาคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้เป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้หนี้สินด้อยสิทธิส่วนที่ไม่นับเป็นหนี้สินรวมไม่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ได้เสนอปรับปรุงนิยามของหนี้สินด้อยสิทธิดังกล่าวให้ต้องมีเงื่อนไขในลักษณะที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องยกเลิกการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใด หรือต้องเลื่อนกำหนดเวลาในการชำระดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใดออกไป หากปรากฏเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจตามที่ ก.ล.ต. กำหนด

  (2) ปรับปรุงอัตรา haircut ด้าน position risk*** ของตราสารบางประเภท และเพิ่มการกำหนดอัตรา haircut ด้าน position risk ของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchange) และตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR)

  (3) ปรับปรุงนิยามหนี้สินพิเศษโดยให้รวมถึงหนี้สินรายการอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้แยกทรัพย์สิน (segregate) ไว้รองรับการชำระหนี้สินดังกล่าวไว้อย่างครบถ้วนตลอดเวลา เช่น เงินค่าขายหลักทรัพย์ ซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐสั่งระงับมิให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระคืนแก่ลูกค้า เป็นต้น

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นหลักการดังกล่าวไว้บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=934 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: bhumipisuth@sec.or.th sawarin@sec.or.th และ arthipha@sec.or.th จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2566

_______________________

หมายเหตุ: 

* ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีเงินกองทุนไม่น้อยกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำ กล่าวคือ (1) ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital - NC) ด้วยสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักหนี้สินรวมและค่าความเสี่ยงไม่น้อยกว่ามูลค่าที่กำหนด และ (2) ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio - NCR) โดยมีอัตราส่วนของ NC เมื่อเทียบกับหนี้สินทั่วไป (หนี้สินรวมและหนี้สินอนุพันธ์ทางการเงิน หักด้วยหนี้สินพิเศษ) บวกด้วยทรัพย์สินที่ต้องวางเป็นประกันสำหรับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนด

** หนี้สินด้อยสิทธิ หมายถึง หนี้สินที่กำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ไว้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไป โดยเป็นหนี้สินที่ไม่มีประกันและไม่มีเงื่อนไขให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งยกเว้นไม่นับเป็นหนี้สินรวม เฉพาะส่วนที่ไม่เกินมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้น

*** position risk หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหรือสินทรัพย์อ้างอิงในทิศทางที่ส่งผลขาดทุน (potential loss) แก่ผู้ประกอบธุรกิจ อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเงินลงทุน (position taking) ในหลักทรัพย์ ตราสาร หรืออนุพันธ์ทางการเงิน โดยสถานะดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของ long และ/หรือ short position






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดประเภท และการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนเสริมสร้างความเชื่อมั่นผู้ลงทุน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ Bitazza เปิดรับลูกค้าได้ตามปกติ
ก.ล.ต. เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบข้อมูลลูกค้าระหว่างกันในการกำหนดและทบทวนวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนสำหรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มความเชื่อมั่นและคุ้มครองผู้ลงทุน