สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) กรณีปรากฏข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ของ TRC ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 2,040.57 ล้านบาท เนื่องจากการบันทึกรายการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุน และรายการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ TRC เข้าลงทุนผ่านบริษัทย่อย ซึ่งผู้บริหารของ TRC ทราบข้อมูลภายในดังกล่าวจากความเห็นของผู้สอบบัญชี และเมื่อ ก.ล.ต. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าบุคคลซึ่งรู้หรือครองครอบข้อมูลภายในดังกล่าว จำนวน 4 ราย ได้แก่ (1) นางสาวภาสิตา ซึ่งเป็นบุตรสาวและน้องสาวของผู้บริหาร TRC (2) นางสาวเรวดี ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีอาวุโสของ TRC (3) นางสาวอุ่นเรือน ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินของ TRC และ (4) นางอาริยา ซึ่งเป็นน้องสาวของนางสาวอุ่นเรือน โดยในช่วงระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 นางสาวภาสิตา นางสาวเรวดี และนางอาริยา ได้ขายหุ้น TRC ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองในลักษณะที่ผิดไปจากปกติวิสัยของตน เป็นผลให้สามารถหลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากราคาหุ้น TRC ที่ลดลงภายหลังที่ TRC เปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ที่มีผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 8.49 น.
การกระทำของนางสาวภาสิตา นางสาวเรวดี และนางอาริยา เป็นการขายหุ้น TRC โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน อันเป็นความผิดตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(2) หรือมาตรา 244(3)(4) แล้วแต่กรณี ส่วนการกระทำของนางสาวอุ่นเรือนเป็นการเปิดเผยข้อมูลภายในแก่นางอาริยา อันเป็นความผิดตามมาตรา 242(2) ประกอบมาตรา 243(2) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นางสาวภาสิตา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,777,611 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
(2) ให้นางสาวเรวดี ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 663,307 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
(3) ให้นางสาวอุ่นเรือน ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นรายละ 563,307 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
(4) ให้นางอาริยา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 632,082 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิด ลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
_________________________
หมายเหตุ :
*มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
อ่านรายละเอียด “การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/CivilPenalty.aspx