ศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทย มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม
ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคและความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านตลาดทุนที่สำคัญของ
ก.ล.ต. ที่สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายภาครัฐ ในการลดความเหลื่อมล้ำ
ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาเกณฑ์ ผลิตภัณฑ์
และเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ให้ภาครัฐและเอกชนมีเครื่องมือระดมทุนในโครงการที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนผนวกแนวคิดเรื่อง
ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า
(value chain) และสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้ตามมาตรฐานสากล
อันจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพ
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยรวมของคนในประเทศเพื่อที่ทุกคนจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง
มั่งคั่ง และยั่งยืน
ดร.ภากร
ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งภาคธุรกิจและสังคม
ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐ
และภาคเอกชน
ประสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ
รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม
ภายใต้การสนับสนุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
อันจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย
ชุมชน และหน่วยงานเพื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 50 ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” พร้อมส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นพื้นที่สำหรับอนาคตของทุกคน
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า
จากกระแสของโลกและกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป
เมื่อมาประกอบกับจุดแข็งของประเทศไทยแล้ว บีโอไอจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว
หรือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยบีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล
3 ด้าน ได้แก่ (1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2)
Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว
และสร้างการเติบโตสูง (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน
อันจะช่วยสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศโดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
200% ของลงทุนที่ภาคเอกชนสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพมีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากทาง BOI จะมาเล่าถึงมาตรการนี้ให้ฟังภายในงานแล้ว
เรายังได้เชิญผู้แทนบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว ได้แก่ บริษัท
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กลุ่มมิตรผล และบริษัท
สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมบอกเล่าถึงผลที่ได้รับจากมาตรการให้ฟังอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังมีนิทรรศการของ BOI ซึ่งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า การที่ได้ทำงานทั้งภาคส่วนตลาดทุน
ภาคธุรกิจและงานชุมชนมาตลอดหลายปี ทำให้ทราบดีว่า ทางภาคส่วนตลาดทุนและภาคธุรกิจ
ไม่เคยหยุดนิ่งในการผนวกกิจกรรมด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์และแผนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพิ่มเติมจากการทำงานด้าน Corporate Social Responsibility
(CSR) ซึ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
แต่การหาชุมชนที่จะสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร และในขณะเดียวกัน การที่ชุมชนหนึ่งจะสามารถพัฒนาผู้นำที่ดีเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งได้นั้น
เงินทุนสนับสนุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราได้นำทั้งสองภาคส่วนมาเจอกันได้ทำความรู้จักกัน และอาจเกิดความร่วมมือกันผ่านมาตรการของ
BOI ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง
“งานวันนี้เป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ ที่เราทำให้ ภาคตลาดทุนและธุรกิจได้พบกับชุมชนและสังคม
ผ่านทางความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้ง 9 หน่วยงาน แรงผลักดันจากงานวันนี้จะยังคงเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนในอนาคต” กอบศักดิ์กล่าว