ตามที่ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ได้รับการประกาศโดยกระทรวงการคลังเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่เพิ่มเติม รวมเป็นทั้งสิ้น 6 ประเภทในปัจจุบัน* ประกอบกับ ธปท. ได้ปรับปรุงขอบเขตของแนวทางการทดสอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน (Regulatory Sandbox Guidelines) และกำหนดกรอบการทดสอบการชำระราคาที่มีการกำหนดเงื่อนไขอัตโนมัติ (Programmable Payment) เพิ่มเติม นั้น
เพื่อให้หลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ครอบคลุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และสามารถเข้าร่วมโครงการ Programmable Payment Sandbox ของ ธปท. ได้ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จึงจัดทำร่างประกาศและเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดในกรณีที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ประสงค์จะเข้าทดสอบภายใต้โครงการ Programmable Payment Sandbox ของ ธปท. ทั้งในเรื่องการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP และเงื่อนไขการรับคริปโทเคอร์เรนซีในการทำธุรกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถทดสอบในโครงการดังกล่าวได้ อันจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในตลาดเงินและตลาดทุนต่อไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว และร่างประกาศที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1006 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/ ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์หรือทาง e-mail : apichayas@sec.or.th หรือ yanisac@sec.or.th และ wasu@sec.or.th จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567
_______________
หมายเหตุ :
ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. มี 6 ประเภทในปัจจุบัน
1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)
2. นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)
3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer)
4. ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager)
5. ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service)
6. ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider)