สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มุ่งหวังให้การจัดประเภทผู้ลงทุนมีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกของผู้ปฏิบัติ จึงกำหนดให้ใช้นิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ร่วมกันทั้งในด้านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ และการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อย่างไรก็ดี นิยาม “ผู้ลงทุนสถาบัน” ปัจจุบัน ครอบคลุมผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์บางประเภทในแต่ละคราว และนิยามผู้ลงทุนรายใหญ่ยังแตกต่างกันในประกาศบางฉบับ
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดประเภทและการให้บริการแก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับการบริการจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 6/2567 เห็นชอบ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
(1) ปรับปรุงนิยาม “ผู้ลงทุนสถาบัน” สำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้หมายถึงนิติบุคคลที่มีลักษณะตามที่กำหนด เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง
(2) กำหนดนิยาม “ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติเฉพาะ” ให้หมายถึงผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) และบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ที่ได้รับการจัดประเภทให้เป็นผู้ลงทุนสถาบัน ตามหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ได้ตามหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์
(3) ปรับปรุงนิยาม “ผู้ลงทุนรายใหญ่” สำหรับการให้บริการลงทุนในต่างประเทศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องอื่น โดยให้หมายถึงผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth : UHNW) ซึ่งมีเงินลงทุนรวมเงินฝาก 30 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับบุคคลธรรมดา และ 60 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับนิติบุคคล โดยมีความรู้หรือประสบการณ์ตามที่กำหนด จากเดิมที่กำหนดเป็นไปตามคำนิยาม Qualified Investor (QI)* ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งยกเลิกแล้ว รวมทั้งปรับปรุงนิยามผู้ลงทุนสถาบันตามที่ปรับปรุงใหม่ในข้อ (1)
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์กรณีการให้บริการพาผู้ลงทุนรายย่อยไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายฯ นั้นต้องเป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในเรื่องอื่นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่มีผลใช้บังคับ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดประเภทผู้ลงทุนสถาบันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ เมื่อถึงรอบการทบทวนการทำความรู้จักลูกค้า (KYC) ครั้งถัดไปของผู้ลงทุน หรือเมื่อผู้ลงทุนประสงค์ซื้อหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสำหรับผู้ลงทุนที่ได้รับการจัดประเภทเป็น QI ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันให้ถือเป็น UHNW ตามหลักเกณฑ์ใหม่โดยอัตโนมัติ
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1010 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: sukritta@sec.or.th หรือ hathaiphat@sec.or.th จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2567
________________________
หมายเหตุ : * Qualified Investor (QI) คือ ผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนรวมเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)