สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2565 - 30 มกราคม 2566 STARK ได้เปิดเผยสารสนเทศผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการขายหุ้นเพิ่มทุนโดยจัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด (เงินเพิ่มทุน PP) จำนวน 5,580 ล้านบาท และการจัดทำโครงการซื้อหุ้นคืน ทั้งที่ในช่วงเวลานั้น เงินเพิ่มทุน PP จำนวนดังกล่าวถูกนำออกไปใช้จ่ายจนหมดแล้ว และ STARK ไม่ได้มีกำไรสะสมและสภาพคล่องเพียงพอที่จะจัดทำโครงการซื้อหุ้นคืนตามที่ได้เปิดเผยสารสนเทศ ซึ่งข้อความที่เผยแพร่ดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จและข้อความอันอาจทำให้ประชาชนและผู้ลงทุนสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของ STARK
ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ นายชนินทร์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท นายศรัทธาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เลขานุการ และกรรมการบริษัท นายวนรัชต์ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท และนายประกรณ์ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท อีกทั้ง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย กรณีมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกรณีตกแต่งงบการเงินปี 2565 ของ STARK* บุคคลดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะที่ทราบได้ว่า STARK มิได้มีกำไรสะสมและสภาพคล่องเพียงพอในการจัดทำโครงการซื้อหุ้นคืน นอกจากนี้ นายชนินทร์และนายศรัทธายังทราบข้อเท็จจริงว่า เงินเพิ่มทุน PP จำนวน 5,580 ล้านบาท ได้ถูกนำออกไปใช้จ่ายจนหมดแล้ว โดยบุคคลทั้ง 4 รายมีส่วนร่วมในการดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของ STARK ดังกล่าว
การกระทำของ STARK เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน โดยนายชนินทร์ นายศรัทธา นายวนรัชต์ และนายประกรณ์ ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล สั่งการหรือกระทำการ หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้ STARK กระทำความผิดในกรณีข้างต้นจึงต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนิติบุคคลและบุคคลทั้ง 5 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “การกล่าวโทษในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการตรวจสอบเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิดเพิ่มเติม จากที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคลที่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกรณีตกแต่งงบการเงินปี 2565 ของ STARK จึงขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานความร่วมมือและติดตามความคืบหน้ากับ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง”
หมายเหตุ: * ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1. ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 116/2566 เรื่อง “ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลรวม 10 ราย ต่อ DSI กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง” วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
2. ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 45/2567 เรื่อง “ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร STARK ต่อ DSI กรณีตกแต่งงบการเงิน พร้อมส่งเรื่องต่อ ปปง.” วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567