Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ลงโทษผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ฐานละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควร



วันอังคารที่ 13 กันยายน 2559 | ฉบับที่ 83 / 2559



ก.ล.ต. ลงโทษ {ก} ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ {หนึ่ง} จำกัด (มหาชน) เนื่องจากละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานในการทำความรู้จักลูกค้าและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญและมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม โดยพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน 2 ปี  นอกจากนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความผิด {ก} ต่อไป 

ก.ล.ต. พบการกระทำผิดดังกล่าวจากการเข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ {หนึ่ง} จำกัด (มหาชน) ตามแผนงานตรวจสอบตามปกติ (routine inspection) โดยพบความบกพร่องในระบบงานการทำความรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer / Customer Due Diligence : KYC/CDD) และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะระบุตัวตนหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า รวมถึงยังไม่สามารถป้องกันการกระทำที่อาจไม่เหมาะสมของลูกค้าได้ และหากลูกค้าดังกล่าวมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาได้ว่ามีส่วนสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวของลูกค้า

{ก} มีส่วนในการกระทำผิดของบริษัทและละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควร (fail to supervise) โดยเป็นผู้อนุมัติการเปิดบัญชีและเพิ่มวงเงินให้กับลูกค้าหลายราย ทั้งที่ลูกค้าดังกล่าวมีเอกสารทางการเงินไม่ครบถ้วน ข้อมูลไม่สอดคล้องกับมูลค่าธุรกรรมของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เพียงพอที่จะรู้ข้อเท็จจริงของลูกค้า นอกจากนี้ {ก} ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงินของบริษัท มิได้สั่งการให้มีการกระทำการใดเพิ่มเติม เมื่อพบว่าลูกค้ามีการทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินอย่างมีสาระสำคัญหรือพบลูกค้าทำรายการที่โดยปกติแล้วต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกกับลูกค้า แต่บริษัทภายใต้การดูแลของ {ก} ไม่ได้มีการสั่งการให้ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกดังกล่าว รวมถึงมีรายการของลูกค้าที่มีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับระบบงาน KYC/CDD ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญ และมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม โดยได้สื่อสารกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย หน่วยงาน Compliance และบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ {หนึ่ง} จำกัด (มหาชน)

ก.ล.ต. เคยพบความผิดในลักษณะนี้และได้ดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งสั่งการให้บริษัทระมัดระวังและแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบปี 2557 มาแล้ว

การที่บริษัทกระทำผิดดังกล่าว เข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535*  โดย {ก} ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท มีส่วนในการกระทำผิดของบริษัทและละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควร จึงมีความผิดตามมาตรา 283 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน ก.ล.ต. จะเสนอการกระทำผิดต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความผิด ซึ่งหาก {ก} ไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ จะดำเนินการกล่าวโทษต่อไป

นอกจากนี้ {ก} ยังมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของ {ก} เป็นเวลา 2 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2559 โดยในช่วงดังกล่าว {ก} จะไม่สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานหรือการเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และการปฏิบัติงานอื่นที่อยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน**

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ก.ล.ต. คาดหวังให้ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ มีการกำกับดูแลกิจการตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย ก.ล.ต. เห็นว่า การมีระบบการทำ KYC/CDD ที่ดีจะช่วยลดโอกาสในการกระทำที่ไม่เหมาะสม อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ลูกค้าหรือตัวบริษัทหลักทรัพย์เอง รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวม"

__________________


*ความผิดของบริษัท เป็นการกระทำผิดมาตรา 113 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 282 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ  คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2.27 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559
**ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ33(2)(3) และข้อ 35(2) ประกอบข้อ 30(5) และข้อ 31(4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน