ก.ล.ต. เปิดให้ผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม และรองรับความต้องการของผู้ต้องการระดมทุนได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มมาตรฐานในการปฏิบัติงานของตัวกลางเพื่อให้มีระบบควบคุมและสอบทานผลประโยชน์ของผู้ลงทุนและผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ คาดว่าประกาศจะมีผลใช้บังคับภายในไตรมาส 4 ปีนี้
การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ซึ่งประกอบด้วยตั๋วเงิน (บีอี) และหุ้นกู้ มีความจำเป็นต่อภาคธุรกิจ ซึ่งในการดำเนินนโยบายในการกำกับดูแลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ ก.ล.ต. จะคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสะดวกต่อผู้ประกอบการในการระดมทุน และการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนประเภทต่าง ๆ ในระดับที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี จากการประเมินสภาพปัจจุบันแล้วพบว่า ภาคธุรกิจได้มีการออกตั๋วเงินอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวมักให้ความสนใจกับผลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุน ประกอบกับตั๋วเงินเป็นตราสารที่ไม่มีกลไกให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนเหมือนหุ้นกู้*? นอกจากนี้ พบกรณีที่มีผู้ออกตราสารหนี้ใช้ช่องทางการเสนอขายแบบในวงจำกัด (แบบ PP-วงแคบ**) ผิดไปจากเจตนารมณ์ ในขณะที่ในด้านการทำหน้าที่ของตัวกลางในการขายตราสารหนี้พบว่า บางรายไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างหน่วยงานที่ติดต่อกับผู้ออกตราสารและหน่วยงานขายที่ติดต่อกับผู้ลงทุนอย่างชัดเจน เป็นผลให้กระบวนการตรวจสอบหรือสอบทานข้อมูล (due diligence) ไม่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุน
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญของการเสนอปรับปรุง ดังนี้
1.?การเสนอขายตั๋วเงินจะให้ทำได้เฉพาะแบบ PP-วงแคบ และแบบผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น โดยยกเลิกการให้เสนอขายแบบผู้ลงทุนรายใหญ่
2.?การเสนอขายตราสารหนี้แบบ PP-วงแคบ ให้เสนอขายได้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ออกตราสาร ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่
3.?การเสนอขายตราสารหนี้แบบผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้เสนอขายได้เฉพาะหุ้นกู้เท่านั้น โดยผู้ออกตราสารต้องยื่นขออนุญาตก่อนจะออกตราสารหนี้ และเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย
4.?การเสนอขายตราสารหนี้แบบผู้ลงทุนทั่วไปจะมีการกำหนดเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ออกตราสารในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความสามารถในการชำระหนี้ โดยต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย
5.?เพิ่มมาตรฐานการปฏิบัติงานของตัวกลางที่เป็นผู้ขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุน โดยกำหนดให้ต้องมีการแยกหน่วยงานที่ติดต่อกับผู้ออกตราสาร และหน่วยงานขายที่ติดต่อกับผู้ลงทุนออกจากกันอย่างชัดเจน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า??แนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ได้คำนึงถึงความสมดุลระหว่างความจำเป็นของภาคธุรกิจในการมีช่องทางในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ และระดับการมีเครื่องมือเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนตามประเภทผู้ลงทุนและช่องทางการลงทุน?โดย ก.ล.ต. ได้หารือกับตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสมาคมที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนมาแล้วชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ประสงค์จะรับฟังความเห็นในวงกว้างเพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางการปรับปรุงแก้ไขจะมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด?
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/hearing) ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2263-6554 หรือทาง e-mail kruaonn@sec.or.th, sarunyaporn@sec.or.th? จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2560?????
_____________________________
หมายเหตุ :
*เช่น ไม่มีข้อกำหนดสิทธิ และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นต้น
**การเสนอขายตราสารหนี้แบบ PP-วงแคบ คือ การเสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใด ๆ หรือตั๋วเงินไม่เกิน 10 ฉบับ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง?