Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เสริมสร้างความรู้กรณีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)



วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 | ฉบับที่ 26 / 2563


ก.ล.ต. พร้อมเสริมสร้างความรู้กรณีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) โดยผู้เสียหายในตลาดทุนสามารถใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลชดใช้ค่าเสียหายได้ รวมทั้งเปิดเผยตัวอย่างคดีในตลาดทุนในเว็บไซต์สำนักงานเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนำผู้ลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)* สามารถดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

(1) รวมตัวกับผู้ลงทุนอื่นที่ได้รับความเสียหายภายใต้สถานการณ์เดียวกัน 

(2) รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าเสียหาย  

(3) ติดต่อกับทนายความเพื่อเตรียมนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาล หากเป็นกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญา ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนฟ้องคดีที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อน เช่น การมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มมาตรการให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้หรือการเยียวยาความเสียหาย โดยใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดี ก.ล.ต. จึงประสานงานกับสภาทนายความ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อเป็นแนวร่วมในการส่งเสริมให้มีการใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่มในตลาดทุนให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในครึ่งแรกของปี 2563

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. (https://www.sec.or.th/th/pages/lawandregulations/classaction.aspx) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ลงทุน โดยสรุปสาระสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เช่น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายโดยรวม 

ก.ล.ต. ยังให้ตัวอย่างการกระทำความผิดหรือความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่อาจร้องขอต่อศาลให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เช่น กรณีมีผู้ที่กระทำความผิดฐานใช้ข้อมูลภายใน ฐานสร้างราคาหลักทรัพย์ และฐานกระทำทุจริตหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ 

_______________________________

หมายเหตุ : *การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) คือ การดำเนินคดีแพ่งที่บุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนได้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อตนเองและเพื่อกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งได้เริ่มมีในกฎหมายไทยเมื่อปี 2558 โดยบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง