ก.ล.ต. ผนึกกำลังองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันศึกษา รวม 24 องค์กร ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเชิญชวนกิจการในตลาดทุนร่วมดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
การลงนามในครั้งนี้ จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(สกพ.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. และนางสาวอุษณี
กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. โดยมีนางสาวรื่นวดี
สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เป็นผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมกล่าวถึงเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563
ณ โรงแรม ปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.
ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดทุนให้ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการมีธรรมาภิบาล
รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึง “สิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค” ซึ่งธุรกิจในตลาดทุนมีพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวดีขึ้นเป็นลำดับ
โดยมีการปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG
Code) ที่วางหลักปฏิบัติในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการที่มุ่งเน้นการมีคุณสมบัติหลากหลายและไม่จำกัดที่เพศและอายุ
ปัจจุบันพบว่า มีกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในตลาดทุนที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงขึ้น
อาทิ ในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีกรรมการที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นประมาณร้อยละ 20
ของจำนวนที่นั่งกรรมการทั้งหมด บจ. ที่มีกรรมการเป็นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคน
คิดเป็นประมาณร้อยละ 83 ของจำนวน บจ. ทั้งหมด และมีผู้บริหารสูงสุด (ในระดับซีอีโอ
และกรรมการผู้จัดการ) ที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 13.85
ในส่วนของ ก.ล.ต. มีกรรมการที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 18
ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มีพนักงานในระดับผู้บริหาร (ตำแหน่งผู้อำนวยการขึ้นไป)
เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 71 ของพนักงานในระดับผู้บริหารทั้งหมด และมีพนักงานหญิงคิดเป็นร้อยละ 67 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ จรรยาบรรณพนักงานเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานระบุว่าพนักงานต้องไม่กระทำการที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีการปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ทั้ง
6 ด้าน*
“ก.ล.ต. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
รวมทั้งขอเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจ และทุกภาคส่วนในตลาดทุน ร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป”
________________________
*ประกอบด้วย (1) การแต่งกาย
โดยให้บุคลากรสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคล (2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของบุคคล ข้อจำกัดของบุคคล
และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (3)
การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงานโดยระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา
หรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน โดยไม่ระบุเพศ (4) การใช้ถ้อยคำ
ภาษาและกิริยาท่าทาง และเอกสารต่าง ๆ ที่เหมาะสม
เพื่อป้องกันการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล (5)
การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน
โดยมุ่งเน้นความเสมอภาค และ (6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ
และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน