ก.ล.ต. ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ESG Integration for Institutional Investors” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) ภายใต้แนวคิดการลงทุน ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG พร้อมส่งเสริมให้ผู้ลงทุนไทยนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เพื่อผลตอบแทนของเงินลงทุนที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมพลังกันสร้างตลาดทุนที่จะเป็นกลไกไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
เท่าเทียม และยั่งยืน ซึ่งผู้ลงทุนนับว่ามีบทบาทสำคัญและเป็นแรงผลักดันหลักให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าต่อชุมชน
สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีบทบาทในการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างจิตสำนึกด้าน
ESG ด้วยการกำหนด
“หลักธรรมาภิบาลการลงทุน” หรือ I Code ในปี 2560 ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อ
ESG โดยปัจจุบันมีผู้ลงทุนสถาบันเข้าร่วมรับการปฏิบัติตาม I
Code แล้วจำนวน 64 หน่วยงาน และ ก.ล.ต. จะเดินหน้าผลักดันเรื่องดังกล่าวร่วมกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันในตลาดทุนและภาคการเงินต่อไป”
Ms.
Cecile Thioro Niang ผู้จัดการสายงานการเงิน
ความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม ธนาคารโลก กล่าวว่า “ธนาคารโลกมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมมือกับ ก.ล.ต. เพื่อร่วมสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในเรื่อง
ESG และพร้อมที่จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในตลาดโลกที่ผ่านมาเพื่อร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและกระทรวงการคลังในการส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการด้าน
ESG ของธุรกิจจัดการลงทุน เพื่อพัฒนาตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย”
การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก
โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการลงทุนโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
โดยสภาวะตลาดในปัจจุบันและแนวโน้มการลงทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์
COVID-19 รวมถึงได้นำเสนอรูปแบบหรือกลยุทธ์การลงทุน
พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างการนำประเด็นหรือข้อมูลด้าน ESG มาผนวกในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน
(ESG Integration) ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ
เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งการลงทุนด้วยหลัก ESG จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมีส่วนร่วมในการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ
แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนไปสู่ยุคความยั่งยืน ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน
มากกว่า 50 คน
______________________