Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์เงินกองทุนเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารสภาพคล่องของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาล่วงหน้า



วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 | ฉบับที่ 217 / 2563


ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาล่วงหน้า มีเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ปรับปรุงค่าความเสี่ยงให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน และรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมทั้งรวมประกาศเกี่ยวกับเงินกองทุนไว้ด้วยกัน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจ ตามแนวทาง Regulatory Guillotine

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับหลักเกณฑ์เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ หลังสิ้นสุดการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง ได้แก่ (1) เพิ่มให้ใช้วงเงินกู้ด้อยสิทธิทดแทนการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ เฉพาะกรณีที่ธุรกรรมหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น (2) เพิ่มให้นับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินกองทุนได้ และ (3) ปรับปรุงค่าความเสี่ยงของลูกหนี้บัญชีเงินสด ความเสี่ยงจากธุรกรรมการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ 

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องรองรับกรณีที่ปริมาณธุรกรรมหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรับปรุงค่าความเสี่ยงให้สะท้อนฐานะทางการเงินอย่างแท้จริงโดยไม่สร้างภาระเกินจำเป็นและรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  นอกจากนี้ ยังได้รวมประกาศเกี่ยวกับเงินกองทุนไว้ด้วยกัน เช่น ในด้านการคำนวณ การรายงาน และข้อกำหนดกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจในการทำความเข้าใจและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ (ease of doing business) ตามแนวทาง Regulatory Guillotine*

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะมีผลสำหรับการจัดทำแบบรายงานที่เกี่ยวข้องสำหรับข้อมูลงวดเดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป

_____________________________

หมายเหตุ :
*Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

**สามารถดาวน์โหลดหลักเกณฑ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่ ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/IntermediariesRegulatorySummary.aspx#nc






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. เปิดตัว “Engagement Questions” เครื่องมือช่วยบริษัทจัดการกองทุนผลักดันบริษัทจดทะเบียนรับมือ climate change เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนเสริมสร้างความเชื่อมั่นผู้ลงทุน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการทำงานสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568-2570
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน ISSB ทัดเทียมระดับสากล
ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2024” ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยขับเคลื่อนตลาดทุน