สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ปัจจุบัน บลจ. ได้ออกกองทุนรวมผสมที่มีการจัดสรรการลงทุน (asset allocation) ในสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่แตกต่างกัน และเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท โดย บลจ. อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นจัดการสินทรัพย์แต่ละประเภทซึ่งใช้ผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทำให้ประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ในการจัดการดังกล่าว ประกอบกับ บลจ. เห็นว่า หลักเกณฑ์ปัจจุบันที่เปิดให้การจัดการกองทุนรวมผ่านการลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกันได้ไม่เกิน 2 ชั้น สำหรับกองทุนรวมทั่วไปอาจยังยืดหยุ่นไม่เพียงพอ
ก.ล.ต. จึงปรับปรุงเกณฑ์ให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในกองทุนรวมภายใต้ บลจ. เดียวกันได้ไม่เกิน 3 ชั้น** เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ บลจ. ในการจัดสรรการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เอื้อให้เกิดการพัฒนารูปแบบหรือกลยุทธ์การลงทุนที่มีความหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน โดยยังคงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการรักษาประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ลงทุน ได้แก่ ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และห้ามใช้สิทธิออกเสียงในกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุน รวมทั้งการมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปแล้ว โดยผู้ตอบแบบรับฟังความเห็นส่วนมากเห็นด้วยกับแนวทางตามที่ ก.ล.ต. เสนอ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
________________________
หมายเหตุ:
* Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
** การปรับปรุงให้กองทุนรวมสามารถลงทุนภายใต้ บลจ. เดียวกัน รวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น ตัวอย่างเช่น กองทุนรวม ก. ลงทุนในกองทุนรวม ข. และกองทุนรวม ข. ลงทุนในกองทุนรวม ค. เป็นต้น