คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบการออกหลักเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนผ่านช่องทาง crowdfunding และการเสนอขายในวงจำกัด เพื่อเปิดโอกาสการระดมทุนให้กับ SME และ Startup มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน และมีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญและรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน โดยยังคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบการออกหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนต่อผู้ลงทุนในวงจํากัดไม่เกิน 10 ราย (Private Placement : PP-10) และการเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการทุกขนาด รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) สามารถระดมทุนผ่านตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนได้ รวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับตราสารและประเด็นด้านความยั่งยืน ทั้งช่วงก่อนและหลังการเสนอขาย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องและครบถ้วน ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนเกี่ยวกับการออกหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวต่อไป
“ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน และได้ดำเนินการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565) การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน มีมูลค่ารวม 4.92 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันประเด็นความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์และการประกอบธุรกิจของธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ SME และ Startup สู่ความยั่งยืน ทำให้กิจการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน และต้องการเงินทุนสำหรับการลงทุนหรือปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ต.ท. ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินและหลักเกณฑ์การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน เช่น การปรับหลักเกณฑ์ให้มีลักษณะที่เน้นเรื่องหลักการเป็นหลัก (principle-based) พร้อมทั้งออกคู่มือและแนวปฏิบัติประกอบหลักเกณฑ์ ปรับปรุงการพิจารณามูลค่าขนาดรายการที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมก่อนเข้าทำรายการ กำหนดประเภทรายการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์หมุนเวียนที่ไม่เข้าข่ายเป็นรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องตามโครงการ regulatory guillotine* ของ ก.ล.ต. เพื่อยกระดับการกำกับดูแลการเข้าทำรายการที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียน และลดภาระของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งออกคู่มือและแนวปฏิบัติจะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าใจหลักการและนำปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ในฝั่งของผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม
โดย ก.ล.ต. จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชน รวมทั้งจะจัดสัมมนากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะนำมาประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และคู่มือประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไป
_____________________________
หมายเหตุ: *Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง