Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เผยผลการหารือคณะทำงานฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อสนับสนุน SME และ Startup ในการออก ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน



วันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 | ฉบับที่ 11 / 2566


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) สู่ตลาดทุนไทย หรือคณะทำงานฯ ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับ SME และ Startup ในการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566

ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ได้มีมติเห็นชอบในแนวทางการสนับสนุนการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนในการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ก.ล.ต. จึงได้จัดประชุมคณะทำงานฯ* ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ที่จะรองรับการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนของ SME และ Startup ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มกิจการดังกล่าว รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้สามารถเร่งปรับตัว และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาธุรกิจในมิติความยั่งยืน ซึ่งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG) เป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์และการประกอบธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ที่นำเสนอ เนื่องจากช่องทางการเสนอขายตราสารหนี้ในวงจำกัดและการเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) นับเป็นช่องทางการระดมทุนที่สะดวกและรวดเร็วซึ่งเหมาะกับ SME และ Startup มากกว่าการระดมทุนรูปแบบอื่น

หลักเกณฑ์ที่เสนอจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไป โดยบริษัทที่ประสงค์จะออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงินด้านสิ่งแวดล้อม และ/หรือสังคม การคัดเลือกโครงการ การรายงานความคืบหน้าโครงการ การกำหนดเป้าหมายของธุรกิจที่สอดรับกับด้านความยั่งยืน เป็นต้น ต่อผู้ลงทุนทั้งก่อนและหลังการเสนอขาย

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ภายในไตรมาส 1/2566 และคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 2/2566

____________________________


หมายเหตุ: *คณะทำงานฯ ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ชมรมวาณิชธนกิจ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. แจ้งให้ NRF ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีและนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข
ก.ล.ต. สั่งการให้ TRITN ชี้แจงข้อมูลการเข้าทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องและขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash)
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์โฆษณาในส่วนของคำเตือนความเสี่ยงการลงทุนใน “โทเคนดิจิทัล”
ก.ล.ต. แจ้ง NUSA แก้ไขงบการเงินประจำปี 2566 และงวดไตรมาส 3 ปี 2567
ก.ล.ต. สั่งการให้ RS ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของการเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินและเงินลงทุนในบริษัทย่อย การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งความเหมาะสมของธุรกรรมและราคา