Sign In
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม

​​​​​​การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) คือ การดำเนินคดีแพ่งที่บุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนได้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อตนเองและเพื่อกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งได้เริ่มมีในกฎหมายไทยเมื่อปี 2558 โดยบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 

จุดเริ่มต้นของการเพิ่มเติมการดำเนินคดีแบบกลุ่มในกฎหมายไทยมีที่มาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.") หาทางแก้ไขปัญหาที่ผู้ลงทุนไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ที่ได้กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และต่อมาหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับหลักทรัพย์ พ.ศ. ... ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรนำหลักการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาใช้กับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากอันเกิดจากมูลละเมิด การผิดสัญญา หรือความเสียหายที่เกิดจากกฎหมายเฉพาะในด้านต่าง ๆ ที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองผู้เสียหาย จึงได้นำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

การดำเนินคดีแบบกลุ่มช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายโดยรวมได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลตามคำขอบังคับเฉพาะในส่วนของโจทก์ผู้เริ่มคดีเท่านั้น และกฎหมายกำหนดให้ทนายความฝ่ายโจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลเมื่อชนะคดี โดยศาลจะพิจารณากำหนดให้จากความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทำงานของทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (จำนวนเงินรางวัลจะต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ) ซึ่งจะเป็นการชักจูงใจให้ทนายความเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

นอกจากนี้ โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์จะเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มในการดำเนินคดีในศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่ม รวมทั้งโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์และสมาชิกกลุ่มด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้จำนวนมากในการดำเนินคดีครั้งเดียว รวมทั้งลดภาระขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มต้นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีประเด็นที่อยากให้ผู้เสียหายคำนึงถึงในเบื้องต้นก่อน 3 ประการ คือ (1) โจทก์ผู้เริ่มคดีต้องได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มโดยสุจริตและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินคดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกกลุ่ม (2) ทนายความฝ่ายโจทก์ต้องมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และ (3) เนื่องจากการเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นไปโดยผลของกฎหมาย หากสมาชิกกลุ่มท่านใดต้องการแยกฟ้องคดีด้วยตนเองหรือไม่ต้องการผูกพันตามผลของคำพิพากษา จะต้องแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นหนังสือต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด


การกระทำความผิดหรือความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่ม

คดีแพ่งที่อาจร้องขอต่อศาลให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับการกระทำความผิดหรือความรับผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“พระราชบัญญัติหลักทรัพย์") มีลักษณะ ตัวอย่าง และอายุความในการดำเนินคดี ดังนี้

ประ​เภทลักษณะการดำเนินคดีตัวอย่างการกระทำความผิดหรือ
ความรับผิดตามกฎหมาย
ว่าด้วยหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์
อายุความ
คดีละเมิดผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำโดยผิดกฎหมายให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกรณีมีผู้ที่กระทำความผิดฐานใช้ข้อมูลภายใน ฐานสร้างราคาหลักทรัพย์ และฐานกระทำทุจริตหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 10 ปีนับแต่วัน
ทำละเมิด
คดีผิดสัญญาผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา/ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา บริษัทที่ออกหลักทรัพย์
ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตาม
หุ้นกู้
10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป
คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะ

 

- ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้/ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน

- การซื้อหลักทรัพย์จาก
ผู้ยื่น Filing เท็จ หรือซื้อหน่วยลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่จัดทำหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนเท็จ

- การซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ เช่น งบการเงินของบริษัท

- คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพิกถอนการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น

- สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลจากผู้ที่ยื่น Filing เท็จ มีอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเอกสารนั้นมีข้อความเท็จ แต่ไม่เกิน 2 ปี นับแต่เอกสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

- สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการซื้อขายหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ มีอายุความ 2 ปี
นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงข้อความเท็จแต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่มีการกระทำนั้น


การเริ่มต้นใช้สิทธิทางศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

นักลงทุนสามารถเริ่มต้นใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามลำดับขั้นตอนดังนี้

1.  รวมตัวกับนักลงทุนอื่นที่ได้รับความเสียหายภายใต้สถานการณ์เดียวกันหรือมีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน

2.  รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือการมีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3.  ติดต่อกับทนายความเพื่อเตรียมนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาล  หากเป็นกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญา ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนฟ้องคดีที่ระบุไว้ในสัญญาเสียก่อน เช่น การมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการประสานงานกับสภาทนายความ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่มในตลาดทุนให้มากขึ้น


สรุปสาระสำคัญของการดำเนินค​ดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (Class Action)​

Class Action

ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

คำอธิบายสรุปสาระสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (Class Action)​ 


เว็บลิงก์ที่เกี่ยวข้อง

ข้อความจำกัดความรับผิด (Disclaimer) :

การเชื่อมโยงเว็บไซต์นี้กับเว็บไซต์ของบุคคลที่สามเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านเท่านั้น สำนักงาน ก.ล.ต. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในลักษณะใด ๆ กับเว็บไซต์ของบุคคลที่สามเหล่านั้น และสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่รับผิดชอบต่อเนื้อหาใด ๆ ที่แสดงบนเว็บไซต์เหล่านั้น หรือต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเข้าชมเว็บไซต์เหล่านั้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

​ฝ่ายคดี

​โทรศัพท์ 0 2263 6144