Whistleblower
หน้าที่ของผู้สอบบัญชีในการแจ้งพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด
การคุ้มครองผู้ให้เบาะแส
Q: การกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของฝ่ายบริหารถือเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ที่เกินกว่าขอบเขตของผู้สอบบัญชีหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรฐานการสอบบัญชีสากลว่าด้วยการตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต (ISA 240) ครอบคลุมเฉพาะการตรวจสอบงบการเงินเท่านั้น
A: มาตรา 89/25 คาดหวังให้ผู้สอบบัญชีรายงานพฤติการณ์น่าสงสัยที่ตนพบเห็นจากการตรวจสอบงบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชีทั่วไปเท่านั้น มิได้คาดหวังให้ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติงานตรวจสอบในส่วนใดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในอนาคตคณะกรรมการกำกับตลาดทุนอาจออกประกาศกำหนดลักษณะพฤติการณ์เพื่อให้ผู้สอบบัญชีใช้เป็นแนวทางในการถือปฏิบัติต่อไป
Q: การเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ขัดต่อจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีหรือไม่ และหากไม่สอดคล้องกันต้องยึดกฎหมายใดเป็นหลัก
A: ข้อกำหนดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองผู้สอบบัญชีกรณีที่ตรวจพบพฤติการณ์ที่น่าสงสัยจากการปฏิบัติงานสอบบัญชีตามปกติภายใต้มาตรฐานการสอบบัญชีและจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพปัจจุบัน และต้องการรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวต่อหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องเพื่อยับยั้งไม่ให้พฤติการณ์หรือความเสียหายลุกลามไป ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีถือปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ และแม้แต่ข้อกำหนดจรรยาบรรณที่เป็นสากลที่กำหนดโดย International Federation of Accountants เองก็ยังระบุว่า นอกจากจะไม่ถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความลับแล้ว ยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพ บัญชีต้องเปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้รู้หรือตรวจพบต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหากมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมาย จึงเห็นว่ากรณีนี้ไม่อาจพิจารณาได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีความขัดแย้งกับจรรยาบรรณผู้สอบบัญชีตั้งแต่ต้น
Q: การรายงานของผู้สอบบัญชีตามมาตรา 89/25 ถ้าผู้สอบบัญชีรายงานผ่านหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีหรือทำจดหมายแจ้งฝ่ายบริหารของบริษัท ถือว่าผู้สอบบัญชีได้ทำหน้าที่รายงานตามมาตรา 89/25 แล้วหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอต้องทำแบบใด
A: กรณีที่ผู้สอบบัญชีรายงานไว้ในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีก็ถือว่าได้มีการรายงานตามมาตรา 89/25 แล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีสงสัย แต่ด้วยขอบเขตการทำงานไม่สามารถล้วงลึกถึงข้อมูลในประเด็นที่สงสัยเพื่อสรุปได้ว่าประเด็นที่สงสัยเป็นจริงหรือไม่ ก็ให้แจ้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อดำเนินการ หากคณะกรรมการตรวจสอบรับทราบแล้วไม่ดำเนินการ ก็ให้แจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ จะถือว่าผู้สอบบัญชีได้ทำตามมาตรา 89/25 แล้ว
Q: รูปแบบพฤติกรรมที่ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ มีนิยามแค่ไหน เพียงใด
A: ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติกรรมการกระทำความผิดของ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีการท าความผิดในเรื่องต่อไปนี้
• มาตรา 281/2 วรรคสอง (กรรมการหรือผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต)
• มาตรา 305 (ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ยึด อายัดไว้หรือสั่งให้ส่ง)
• มาตรา 306 (กรรมการหรือผู้บริหารฉ้อโกงประชาชน)
• มาตรา 308 (กรรมการหรือผู้บริหารยักยอกทรัพย์โดยทุจริต)
• มาตรา 309 (กรรมการหรือผู้บริหารทำให้สินทรัพย์ของนิติบุคคลเสียหาย)
• มาตรา 310 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำการเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้)
• มาตรา 311 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยทุจริต)
• มาตรา 312 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำหรือยินยอมให้กระทำความผิดเกี่ยวกับ บัญชีหรือเอกสาร) และ
• มาตรา 313 (บทเพิ่มโทษกรรมการหรือผู้บริหารนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อขายใน
ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับความผิดตาม มาตรา 307 308 309 310)
Q: พฤติการณ์ที่ต้องรายงานจะต้องมีระดับความสงสัยหรือความร้ายแรงเท่าใด
A: ระดับความรุนแรงหรือระดับพฤติการณ์อัน “ควรสงสัย” ที่ต้องรายงานนั้น คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะมีการประกาศกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชียังคงปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตที่ตนพบเห็นจากการตรวจสอบงบการเงินและมาตรฐานการสอบบัญชีปัจจุบันเท่านั้น โดยจะไม่กำหนดให้ต้องปฏิบัติงานตรวจสอบในส่วนใดเพิ่มเติม
Q: ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีมีการแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าว แต่ต่อมาจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหรือของสำนักงานไม่พบว่าผู้บริหารรายที่กล่าวมีความผิดจริง จะมีการดำเนินการใดกับผู้สอบบัญชีรายดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากอาจพิจารณาได้ว่าทำให้ผู้บริหารรายดังกล่าวเสื่อมเสียชื่อเสียง
A: ไม่มี เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ให้เบาะแสแก่ทางการตามที่กล่าวในมาตรา 89/2 ด้วย ในทางกลับกันหากสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่าผู้สอบบัญชีรู้หรือทราบพฤติการณ์ผิดกฎหมายดังกล่าวในระหว่างการตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชี แต่ไม่แจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ ก็เข้าข่ายกระทำความผิด นอกจากนี้ ในด้านของสำนักงาน ก.ล.ต. เอง มีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวในทำนองเดียวกับข้อมูลอื่นที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่สามารถนำไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก ยกเว้น กรณีการเปิดเผยตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด
Q: พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีแนวทางในการปกป้องผู้ให้ข้อมูล การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล และการดำเนินการในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการให้ข้อมูลเท็จหรือไม่ อย่างไร
A: พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขนี้ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ให้เบาะแสแก่ทางการไว้ในมาตรา 89/2 ดังนี้ “ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทกระทำการใด อันเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน ลูกจ้าง หรือ บุคคลอื่นใดที่รับจ้างทำงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือสถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว ด้วยเหตุที่บุคคลนั้น
(1) ให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือ หรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าด้วยประการใดๆ แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน อันเกี่ยวข้องกับกรณีที่พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นใดนั้นเชื่อหรือมีเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. นี้
(2) ให้ถ้อยคำ ยื่นเอกสารหลักฐาน หรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าด้วยประการใดๆ แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา หรือตรวจสอบกรณีที่มีเหตุสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำไปโดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงานมีคำสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่”
ทั้งนี้ บริษัทที่มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดข้างต้นโดยมีการกลั่นแกล้งพนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลที่รับจ้างทำงานให้แก่บริษัท จะต้องรับโทษทางอาญาตามที่กล่าวในมาตรา 281/1 ด้วย รวมทั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง
Q: การให้ความคุ้มครองผู้ให้เบาะแสแก่ทางการครอบคลุมถึงผู้สอบบัญชีหรือไม่
A: รวมด้วย