บทบาทของ ก.ล.ต.
แนวคิด
“การกำกับดูแล” เป็น ภารกิจหลักที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้ให้อำนาจหน้าที่แก่ ก.ล.ต. ในการออกกฎเกณฑ์ ติดตามดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายเมื่อมีการฝ่าฝืน การกำกับดูแลโดยภาครัฐมีความจำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนของประเทศ ขณะเดียวกันการใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เกิดการปฏิบัติดังกล่าว มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของผู้ที่ถูกกำกับดูแล ดังนั้น ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม และด้วยความสมเหตุสมผล เพื่อมิให้กระทบสิทธิต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควร
“ตลาดทุน” เป็น “ตลาด” ที่ไม่ได้มีสถานที่หรือตัวตนใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของตลาดทุน คือ ผู้มีส่วนร่วมต่าง ๆ ทั้งผู้ระดมทุน ผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการตลาดหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมในตลาดทุน
ดังนั้น “การกำกับดูแลตลาดทุน” จึงเป็นการกำกับดูแลให้ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนมีการปฏิบัติที่ดี เพื่อให้ธุรกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ พร้อมที่จะรองรับการระดมทุน การลงทุน การซื้อขายตราสารการเงิน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป
“กลไกการกำกับดูแลตลาดทุน” โดยที่เครื่องมือในการกำกับดูแลมีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งการออกกฎเกณฑ์ การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการส่งเสริม สนับสนุนอื่น แต่ละเครื่องมือมีข้อดี-ข้อเสีย และให้ผลต่างกัน ทั้งยังสามารถเลือกใช้ได้หลายระดับ และการทำให้เกิดการปฏิบัติที่ดีในตลาดทุนสามารถเกิดได้ทั้งจากวินัยของผู้ปฏิบัติเอง (self discipline) การผลักดันหรือวินัยของผู้มีส่วนร่วมในตลาด (market discipline) นอกเหนือจากการกำกับดูแลจากหน่วยงานตามกฎหมาย (regulatory discipline) กลไกการกำกับดูแลตลาดทุนจึงเป็นการผสมผสานการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการกำกับดูแลในระดับที่เหมาะสมผ่านผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน
แนวทางดำเนินงาน
เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกการกำกับดูแลที่ยั่งยืน และตลาดทุนที่ยั่งยืน โดยปรับการกำกับดูแลให้อยู่บนหลัก principle based มากขึ้น และส่งเสริมให้เกิดวินัยในตนเองของผู้ปฏิบัติ ก.ล.ต. จึงออกแบบผสมผสานการใช้เครื่องมือหลัก 4 ประเภท ดังนี้
1. การออกกฎเกณฑ์ (Preventive regulations)
เพื่อให้มั่นใจว่ากฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. จะนำออกใช้ ตอบวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล มีความจำเป็นและคุ้มค่าเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและการพัฒนาตลาดทุนโดยรวม เทียบกับผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติ ก.ล.ต เคารพสิทธิของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนโดย
· ประเมินแล้วว่าเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นดำเนินการ เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ดำเนินการอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือหรือประสิทธิภาพของตลาดทุน
· ศึกษาและเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งข้อดี-ข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ ในการกำกับดูแล
· จัดประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง โดยหากเป็นหลักเกณฑ์ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบมากอาจมีการจัดสัมมนาในวงกว้างประกอบด้วย นอกจากนั้น ยังมีขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจจึงมีความเข้าใจในทางปฏิบัติ ทำให้สามารถสะท้อนความคิดเห็นแทนผู้ประกอบการอื่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่า กฎเกณฑ์ที่จะนำออกใช้นั้นสมเหตุสมผล คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน โดยเคารพสิทธิของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนอย่างเพียงพอแล้ว
· ตรวจร่างประกาศเพื่อให้มั่นใจว่า กฎเกณฑ์ที่จะออกมานั้นมีกฎหมายรองรับให้อำนาจอย่างถูกต้อง บังคับใช้ได้ เนื้อหาของร่างกฎเกณฑ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์อื่นในทำนองเดียวกัน รวมทั้งมีความชัดเจน สามารถสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตามได้
· ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่หรือหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงกันและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลเป็นรายบริษัท เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสะดวกในการติดต่อสอบถาม
2. การติดตามดูแล (Monitoring)
ด้านบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
· เพื่อเป็นการป้องกันผู้ลงทุนจากการกระทำไม่เป็นธรรม และให้มั่นใจว่า ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำคัญที่ถูกต้องและเพียงพอสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ก.ล.ต. จึงกำหนดให้บริษัทที่ประสงค์จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจากก.ล.ต. ก่อน แต่ขณะเดียวกัน ต้องมั่นใจว่าเกณฑ์และกระบวนการพิจารณานั้นไม่เป็นอุปสรรค หรือต้นทุนเกินสมควรแก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์
· กำหนดและติดตามดูแลให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน เช่น งบการเงิน โครงสร้างการบริหาร ความเสี่ยง ทางธุรกิจ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ลงทุน สาธารณชน สื่อมวลชน และ ก.ล.ต. สามารถติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้ ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลช่วยขับเคลื่อนให้กลไกวินัยของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทำงาน และยังกระตุ้นให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ต้องเปิดเผย ช่วยเสริมสร้างกลไกวินัยในตนเองของผู้ปฏิบัติควบคู่กันไป
· ติดตามดูแลการทำรายการสำคัญและข้อร้องเรียน เพื่อป้องปรามการกระทำไม่เป็นธรรม และปกป้องรักษาสิทธิของผู้ลงทุน
· ส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัทจดทะเบียนด้วยมาตรการที่หลากหลาย โดยดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (“IOD”) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เป็นต้น
3. การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement)
แม้การกระทำผิดกฎหมายจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับการดำเนินงานและธุรกรรมปกติในตลาดทุน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดเพียงไม่กี่ครั้งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ภายใต้แนวคิดที่ว่า 1) ผู้กระทำผิดต้องไม่ได้รับประโยชน์จากการทำผิดนั้น (disgorgement) 2) ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษ (discipline) และ 3) บทลงโทษต้องทำให้เกิดความหวาดกลัวและยำเกรง ไม่กล้าทำผิดซ้ำ (deterrent) รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการกระทำผิดให้สาธารณชนรับทราบผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
· การดำเนินการเชิงบริหาร ใช้สำหรับกรณีที่ ก.ล.ต. พบว่า ผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกระทำผิด ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ หรือขาดคุณสมบัติ ก.ล.ต. จะพิจารณาสั่งการให้มีการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่อง ตักเตือน สั่งพักการให้ความเห็นชอบ โดยมีกำหนดระยะเวลา หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบแล้วแต่กรณี และหากผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วย สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ โดยการดำเนินการเชิงบริหารจะช่วยให้การกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยยกระดับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติงานหรือประกอบธุรกิจในตลาดทุนให้มีความรับผิดชอบและปฏิบัติงานโดยรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ
· การดำเนินคดีอาญา แบ่งการดำเนินการได้เป็น 2 กรณี คือ
(1) กรณีเป็นความผิดในมาตราที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ และเป็นความผิดที่ไม่ได้มีผลกระทบในวงกว้าง ก.ล.ต. จะเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเปรียบเทียบความผิดโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดค่าปรับที่ผู้กระทำผิดต้องชำระให้แก่กระทรวงการคลัง
(2) กรณีเป็นความผิดที่ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ หรือผู้กระทำผิดไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด หรือเป็นความผิดที่มีผลกระทบในวงกว้าง ก.ล.ต. จะดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่ลักษณะความผิด เพื่อดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน โดยหากพนักงานสอบสวนเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาต่อไป
ในการบังคับใช้กฎหมายตามเครื่องมือทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น ก.ล.ต. ดำเนินการตามกระบวนการ due process บนพื้นฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหาในการที่จะมีโอกาสได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานต่อ ก.ล.ต. รวมถึงการกำหนดวิธีพิจารณาไว้อย่างรอบคอบรัดกุม โดยมีองค์คณะพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ข้อเสนอแนะ และหากเป็นการดำเนินการเพื่อสั่งการทางบริหาร จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นองค์คณะด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าการพิจารณาตัดสินใจได้คำนึงถึงมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
นอกจากนั้น ก.ล.ต. ยังได้กำหนดกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในองค์กรไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและฝ่ายตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ทบทวนและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน และสอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ในด้านของการประสานความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับหน่วยงานในและต่างประเทศนั้น มีการดำเนินการในหลายระดับตั้งแต่ชั้นการรวบรวมพยานหลักฐาน จนถึงชั้นภายหลังการกล่าวโทษดำเนินคดี นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ความผิดในเรื่องการสร้างราคาหลักทรัพย์หรือการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายใน ได้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จึงจะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่กระทำผิดในเรื่องดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการภายหลังมีการกระทำผิด ซึ่งความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น แม้ ก.ล.ต. จะมีเครื่องมือและกลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากความเสียหายที่มีต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย ก.ล.ต. จึงให้น้ำหนักความสำคัญกับการป้องกันก่อนเกิดความเสียหายมากกว่า ด้วยการเน้นการดำเนินงานด้านการออกกฎเกณฑ์และติดตามดูแลเพื่อป้องกันและลดการกระทำผิดที่จะกระทบและทำลายความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยให้น้อยที่สุด
4. มาตรการส่งเสริม-สนับสนุน
นอกเหนือจากเครื่องมือที่กล่าวมา ก.ล.ต. ได้นำมาตรการอื่นมาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้งานกำกับดูแลตลาดทุนบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น เช่น
· ส่งเสริมด้านการใช้สิทธิผู้ลงทุนให้เข้มแข็งขึ้น โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของผู้ลงทุนผ่านการดำเนินกิจกรรมและสื่อต่าง ๆ แก้ไข กฎหมายให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิหรือมีส่วนในการฟ้องร้องมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดกฎหมายร่วมฟ้องหรือ Class Action ที่จะเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนจะเรียกร้องค่าเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
· สนับสนุนให้ผู้ลงทุนสถาบันซึ่งจัดว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีอิทธิพลต่อบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียง และผลการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นแต่ละครั้ง เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนรู้ว่าผู้ลงทุนสถาบันสนับสนุนเรื่องใดและไม่สนับสนุนเรื่องใด นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางในการตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียงได้ด้วย
· สนับสนุนการดำเนินการของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ("IOD") โดยผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ร่วมเป็นกรรมการใน IOD เพื่อประสานนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงาน และงบประมาณบางส่วนสำหรับโครงการของ IOD ในการ ยกระดับคุณภาพของกรรมการและบริษัทจดทะเบียนไทยให้ทัดเทียมกับสากล
· สนับสนุน ACMF (The ASEAN Capital Markets Forum) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศในภูมิภาคอาเซียน จัดทำโครงการASEAN Corporate Governance Scorecard (ASEAN CG Scorecard) เพื่อยกระดับมาตรฐานและการปฏิบัติทางด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน