Detail Content
การทุจริตคอรัปชัน (Anti-corruption)
นิยาม “คอร์รัปชัน” (Corruption)
คอร์รัปชัน (Corruption) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Corruption เป็นคำที่รู้จักกันดีทั่วไปมานาน แต่ความหมายของคำนี้มีหลากหลายต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ หลักการหรือมุมมองในทางศีลธรรม ทางการเมืองหรือทางเศรษฐศาสตร์ (Magavilla, 2012) ในมุมมองของพฤติกรรมหรือการกระทำนั้น คอร์รัปชัน อาจจัดเป็นอาชญากรรม (crime) ประเภทหนึ่ง ในบางกรณีคอร์รัปชันอาจจะถูกมองในความหมายที่แคบและต่างจากการโกง ยักยอก รีดไถ การขู่ โดยมองว่าคอร์รัปชันเป็นการกระทำของคนสองฝ่ายที่หาประโยชน์ร่วมกันจากฝ่ายที่สาม (Bowles, 1999) เช่น การติดสินบน
องค์การสหประชาชาติให้ความหมายคอร์รัปชัน คือ ไม่ใช่แค่พฤติกรรม แต่เป็นปรากฏการณ์ (phenomenon) ในทางสังคม การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก (UNODC, 2009) และองค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส Transparency International (TI) ให้นิยามคำคอร์รัปชัน คือ การใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจในทางที่ผิด (abuse of entrusted power) เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาคมยุโรปได้ให้คำจำกัดความคอร์รัปชัน หมายถึง การใช้อำนาจสาธารณะที่มิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือการให้สินบน และความประพฤติทั้งหลายของบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบในภาครัฐหรือเอกชนประพฤติที่ฝ่าฝืนหน้าที่ของตน โดยไม่สมควรกับตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะเจ้าพนักงานแห่งรัฐ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเอกชน ตัวแทนหรือฐานะความสัมพันธ์อื่นๆ โดยมุ่งประสงค์ให้ได้รับประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
โดยสรุป คอร์รัปชัน เป็นการกระทำที่มีการใช้อำนาจ หรือการให้สินบน ที่อาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายก็ได้ แต่มีเจตนาให้ได้รับประโยชน์อันไม่สมควรจะได้ และคอร์รัปชันนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยการคอร์รัปชันในภาคเอกชนอาจหมายถึง การที่ผู้บริหารใช้อำนาจหรือตำแหน่งที่ได้มาจากผู้ถือหุ้นในการดำเนินงานของบริษัทเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน (ฐานันท์ วรรณโกวิทย์,2554)
การขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งและปรากฏในทุกประเทศโดยเฉพาะในสังคมที่กำลังพัฒนา เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ จำนวนมากที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของการคอร์รัปชัน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในการบั่นทอนความเจริญเติบโตของทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากประเทศใดที่มีการคอร์รัปชันจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศนั้นในทุก ๆ ด้าน จนเป็นเหตุให้บั่นทอนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นภัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ ปัญหาคอร์รัปชันจึงถูกยกเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกขึ้นอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International (TI) ในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) รัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์กรข้ามชาติบางองค์กร โดย TI เป็นองค์กรนานาชาติ ไม่มุ่งหวังผลกำไรและเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก มีเครือข่ายกว่า 120 ประเทศทั่วโลก วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้ง TI คือ (1) ผลักดันการคอรัปชันเป็นวาระของโลก (2) แสดงบทบาทสำคัญในการจัดทำอนุสัญญาการต่อต้านคอร์รัปชัน และ (3) ยกระดับมาตรฐานความแข็งแรงภาครัฐ พร้อมทั้งจัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) เพื่อเป็นตัวชี้วัดปรากฏการณ์คอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ องค์การสหประชาติตระหนักว่าเครื่องมือทางกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งจำเป็น จึงได้จัดประชุมเพื่อหาเครื่องมือเหล่านี้ที่สำนักงานใหญ่ the United NationsOffice on Drugs and Crime (UNODC) และในปี พ.ศ.2546 ที่ประชุม General Assembly ได้ยอมรับผลข้อตกลงการประชุม United Nations Convention against Corruption (UNCAC) พร้อมทั้งกำหนดให้สำนักงานสหประชาชาติด้าน UNODC เป็นเลขาฯ ของการประชุม UNCAC และที่ประชุมได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) เพื่อให้โลกเกิดความตระหนักในการต่อสู้และป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน อีกทั้ง UNCAC กำหนดให้ประเทศสมาชิกบัญญัติกฎหมาย จัดระเบียบสถาบัน เพื่อป้องกันคอร์รัปชัน รวมถึงการลงโทษ เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ และขอความร่วมมือของศาลให้มีกลไกตรวจสอบทรัพย์สินพร้อมทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับประเทศไทย นอกจากการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตหลายองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และมีตัวบทกฎหมายมากมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดทุจริตคอร์รัปชันแล้วนั้น ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนยังถือเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ดังเช่น การจัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption “CAC”) ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดทำโดยรัฐบาลและสำนักงาน ป.ป.ช. และดำเนินการโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรชั้นนำ อันได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การพัฒนาตลาดทุนไทยกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาของประเทศที่สำคัญและการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนควรต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น ขอความร่วมมือให้เข้ามาร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (“CAC”) มากขึ้น เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ (Integrity) และความโปร่งใส (Transparency) ให้กับตลาดทุนไทยในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก และการทำในวงกว้างจะเป็นแบบอย่างที่ดี หรือ Role Model ให้แก่บริษัทอื่นๆ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือภาคธุรกิจอื่นให้ปฏิบัติตาม ซึ่งก็จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดทุนของไทยและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ
ก.ล.ต. ได้ผลักดันให้ธุรกิจมีมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยการออกประกาศให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลนโยบายและการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในรายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน 5 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ประกาศจับมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือในการกำหนดแนวทางการลงทุนที่ดี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานและการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน เช่น แนวทางการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Voting Guidelines) เพื่อสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจในตลาดทุน โดยผู้ลงทุนสถาบันทุกกลุ่มถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยรวมทั้งภาคธุรกิจของไทยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล