Detail Content
สำนักงานให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยได้กำหนดกรอบการพัฒนาที่สอดคล้องกับพันธกิจ แผนกลยุทธ์องค์กร และแผนงานประจำของสำนักงานและส่วนงานต่าง ๆ รวมทั้งได้กำหนดแนวทางในการส่งพนักงานเข้าอบรม/สัมมนาและดูงานอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของสำนักงานด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. กรอบการพัฒนาบุคลากร
สำนักงานได้ออกแบบการพัฒนาพนักงานให้สอดคล้องกับ โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถของพนักงาน ก.ล.ต. ให้คิดต่อยอด เท่าทัน และยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง รู้จริงในงาน ทำงานเชิงรุก มีความเป็นมืออาชีพ สร้างการมีส่วนร่วม ตัดสินใจด้วยข้อมูลและขับเคลื่อนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยกำหนดเส้นทางการพัฒนาบุคลากรที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะการทำงานทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยเน้นด้านหลัก ๆ ดังนี้
1.1 หลักสูตรด้านทักษะที่ส่งเสริมการปฏิบัติงาน (Basic Knowledge, Soft Skills, Digital Skills) จะพิจารณาเน้นไปที่แต่ละกลุ่ม
1.1.1 กลุ่มพนักงานใหม่ : มีหลักสูตรเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ (On-boarding Program) ประกอบด้วย การปูพื้นฐานหลักกำกับดูแลตลาดทุน (Regulatory Principle) เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ หลักการ และวิธีคิด ของผู้กำกับดูแล และเห็นความเชื่อมโยงของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศตลาดทุน (Ecosystem) ความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับตลาดทุน รวมทั้งเรียนรู้วิถีการทำงาน ปลูกฝังพฤติกรรมการทำงานตามค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร โดยผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันในหลักสูตร SEC Family นอกจากนี้ หลักสูตรในการปฏิบัติงานในฐานะพนักงานองค์กรของรัฐ ที่พนักงานจำเป็นต้องรู้ เช่น พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 เป็นต้น
1.1.2 กลุ่มพนักงานทั่วไป : เน้นการพัฒนาตามความจำเป็นตามเส้นทางการพัฒนา (Training roadmap) และความต้องการในการฝึกอบรมของพนักงาน (Training Needs) เริ่มตั้งแต่กรอบการพัฒนาความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ทักษะการทำงานที่สอดรับกับโลกการทำงานยุคใหม่ เน้นทักษะการคิดและการสื่อสาร เน้น “คิดรอบวิเคราะห์เป็น สื่อสารเก่ง ตอบสนองเร็ว" รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้พนักงานมีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาเพื่อให้พนักงานมีความรู้ ทักษะที่สามารถรองรับงานที่เป็นภารกิจใหม่ของสำนักงาน เช่น งานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล งานกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดทุน เป็นต้น
1.2 หลักสูตรด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน (Technical Skills)
การพัฒนาความรู้และทักษะในงาน ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรมจะพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในงานของแต่ละสายงาน ความเกี่ยวข้องกับการไปใช้ ประโยชน์ที่สำนักงานจะนำไปใช้ การกระจายโอกาสในการพัฒนา โดยคำนึงถึงผลงานและพฤติกรรมในการทำงานของพนักงานประกอบด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายงานต่าง ๆ สามารถจัดอบรม/สัมมนาเพื่อติดตามแนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องในงานของแต่ละฝ่ายโดยตรงได้ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
1.3 หลักสูตรด้านการบริหารและภาวะผู้นำ (Managerial & Leadership)
เน้นพัฒนาผู้บริหารตามระดับตำแหน่งตามเส้นทางการอบรม (Training roadmap) โดยผู้บริหารระดับต้นเน้นความเข้าใจรูปแบบการบริหารของตนเอง ทักษะสำคัญของผู้บริหารทีม ได้แก่ การสอนงาน การมอบหมายงาน การเป็นผู้นำทีม รวมทั้งบทบาทด้านการบริหารบุคคล การบริหารผลงานของหัวหน้างาน สำหรับผู้บริหารระดับผู้อำนวยการขึ้นไป เน้นทักษะการสร้างแรงบันดาลใจ การบริหารงานแบบข้ามทีม การสื่อสารในสถานการณ์ที่ยาก โดยในกลุ่มผู้อำนวยการขึ้นไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นกลุ่มตำแหน่งงานสำคัญ (Strategic Position) จะเน้นการพัฒนาตามแผนพัฒนาผู้บริหารรายบุคคล (Individual Development Plan) และการเตรียมความพร้อมสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงตามแผนทดแทนตำแหน่ง (Succession Plan) ด้วย
นอกจากนี้ สำนักงานยังสนับสนุนการไปดูงาน ฝึกงาน การแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ และการสนับสนุนให้พนักงานไปรับทุนการศึกษา/ทุนฝึกอบรมจากสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและประสบการณ์และการสร้างเครือข่ายในการทำงานให้แก่พนักงานด้วย
2. แนวทางการพิจารณาส่งพนักงานเข้าอบรม/สัมมนาและดูงาน
ในการพิจารณาส่งพนักงานไปเข้ารับการอบรมโดยฉพาะกับสถาบันภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานได้คำนึงความเป็นธรรม ประโยชน์กับงานสำนักงานเป็นสำคัญ รวมทั้งความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายของสำนักงาน โดยไม่กระทบกับการปฏิบัติภารกิจหลักของสำนักงาน และกำหนดแนวทางการพิจารณาคัดเลือกพนักงานเข้าอบรม ดังนี้
2.1 คุณสมบัติของพนักงานที่ไปเข้ารับการอบรมต้องพิจารณาให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของหลักสูตรเป็นหลัก เช่น อายุ ตำแหน่ง ระยะเวลาปฏิบัติงาน ประสบการณ์ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยพนักงานต้องมีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับน่าพอใจ ตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
2.2 เนื้อหาการอบรมมีความเกี่ยวข้องกับงานของพนักงานโดยตรง สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อการเติบโตในสายอาชีพของพนักงาน (Career Path) โดยหากหลักสูตรอบรม มีเนื้อหาเกี่ยวข้องหลายฝ่ายงานและมีการเสนอรายชื่อผู้เข้าอบรมเกินจำนวนโควต้าที่สถาบันจัดสรรให้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะหารือคณะผู้บริหารระดับสูง (รองเลขาธิการ) เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม
2.3 ประวัติการเข้าอบรม โดยเฉพาะพนักงานที่ได้เข้ารับการอบรม/สัมมนาหลักสูตรในต่างประเทศ หรือหลักสูตรที่จัดโดยสถาบันภายนอกที่มีการกำหนดให้อบรม ดูงานในต่างประเทศแล้ว ให้เว้นระยะเวลาการอบรมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อหลักการกระจายโอกาสในการเข้ารับการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงการไปประชุมต่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับงานในหน้าที่หรือได้รับมอบหมายจากสำนักงานให้เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมประชุม รวมทั้งพนักงานที่จะพ้นจากตำแหน่งหรือมีอายุงานในสำนักงานเหลือไม่ถึง 6 เดือนจะไม่พิจารณาส่งไปเข้าอบรมกับสถาบันภายนอก
อย่างไรก็ตาม เพื่อความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ อาจพิจารณาสำนักงานพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณีได้ รวมทั้ง กรณีที่เป็นการอบรมเพราะเป็นความจำเป็นตามเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของการเข้าดำรงตำแหน่งที่สำนักงานได้กำหนดไว้หรือที่จะกำหนดขึ้นภายหลัง
2.4 พนักงานที่ไปเข้าอบรม สัมมนาในต่างประเทศจะต้องทำรายงานสรุปเสนอผู้บังคับบัญชาและนำส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือนำความรู้มาถ่ายทอดในรูปแบบการบรรยายให้พนักงานในส่วนงาน/สำนักงาน ผ่านเครื่องมือการจัดการความรู้อื่น ๆ
ปรับปรุงล่าสุด 18 มีนาคม 2567