Detail Content
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรักษาสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย และเสริมสร้างให้การดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจปัญหา ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้
2. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แจ้งข้อร้องเรียน ผ่านช่องทางต่าง ๆ
มาตรการ
1. การเผยแพร่ข้อมูล
ก.ล.ต. เผยแพร่บทบาท ขอบเขตอำนาจหน้าที่ แผนการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้ผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ และติดตามการดำเนินงานผ่านทางเว็บไซต์ www.sec.or.th และช่องทางต่าง ๆ เช่น Facebook และ Twitter ของ ก.ล.ต. และมีช่องทางที่หลากหลายให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียน เช่น โทรศัพท์ (call center 1207) แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (กรณีส่งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ www.sec.or.th/complaint) การแจ้งเรื่องด้วยตนเอง อีเมล (info@sec.or.th และ complaint@sec.or.th) จดหมาย (อีเมลและจดหมายสามารถส่งถึงเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้โดยตรง) ทั้งนี้ โดยมีรายละเอียดในมาตรการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ
2. การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์
ก.ล.ต. เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การออกกฎเกณฑ์ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประจำปี หรือทุกรอบ 3 ปี ก.ล.ต. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน ซึ่งรวมถึงองค์กร หรือหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
การออกกฎหมาย ก.ล.ต. จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การออกกฎเกณฑ์ ก.ล.ต. มีแนวปฏิบัติตามคำสั่งเลขาธิการ ที่ ส. 81/2558 กำหนดนโยบายการรับฟังความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนการออกหลักเกณฑ์หรือประกาศเพื่อใช้บังคับ โดยต้องมี
การวิเคราะห์และกำหนดบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
กำหนดระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น
สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และการตอบข้อคิดเห็นทางเว็บไซต์ นอกจากการเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์แล้ว ช่องทางอื่นมีทั้งการเชิญตัวแทนบุคคลที่เกี่ยวข้องจากกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มมาประชุมระดมความคิดเห็นด้วย (focus group) ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีคู่มือรายละเอียด วิธีการดำเนินการ และมีฟอร์มเอกสาร checklist เพื่อควบคุมให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎ (regulatory impact assessment) เพื่อให้การออกกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับจากบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและรอบด้าน อันจะส่งผลให้กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับจากบุคคลที่เกี่ยวข้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม และตลาดทุนพัฒนาได้แบบยั่งยืน
3. การพิจารณาคำขอต่าง ๆ
ก.ล.ต. ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสชี้แจงได้ก่อนการแจ้งผลพิจารณา นอกเหนือจากการส่งเอกสารหลักฐาน
4. การกำกับดูแล
ผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล จะมีโอกาสชี้แจงและนำส่งเอกสารพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ซึ่งหากมีการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ ก.ล.ต. จะมีแนวปฏิบัติในการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
การดำเนินการ เจ้าหน้าที่ต้องมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวและต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่อง
ที่พิจารณา และมีการกำหนดชั้นความลับป้องกันมิให้ผู้ไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
การพิจารณา กำหนดให้มีการรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนรอบด้าน ต้องมีรายละเอียด
เป็นลายลักษณ์อักษรระบุเหตุที่มา ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย และรายละเอียดสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ
มีขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากบุคคลภายนอกประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย
การให้สิทธิแก่ผู้ถูกพิจารณา ก่อนที่จะมีการออกคำสั่งใด ๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนจะต้องมีขั้นตอนการแจ้งให้รับทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และให้โอกาสในการโต้แย้ง แสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิของตนอย่างเต็มที่
การออกคำสั่ง ต้องมีเหตุผลประกอบ ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
5. การบังคับใช้กฎหมาย
ก.ล.ต. มีกระบวนการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสชี้แจงแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมีมาตรการรักษาความลับเพื่อมิให้กระทบกับสิทธิพื้นฐานของผู้มีส่วนได้เสีย
6. การทำแบบสำรวจ
ก.ล.ต. ทำการสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนร่วมได้เสียในตลาดทุนและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องทุกปี และมีการเผยแพร่ผลโดยสรุปบนเว็บไซต์