การพัฒนาบุคลากรของ ก.ล.ต. ได้มีการวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารและบุคลากรของ ก.ล.ต. ให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ก.ล.ต. ได้จัดให้มีการพัฒนาบุคลากร ดังนี้
1. การพัฒนาความเข้าใจและทักษะด้านดิจิทัล มีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานมีความรู้และทักษะด้านดิจิทัลเพียงพอสอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายขององค์กร สู่การเป็น Digital Ready SEC พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับบริบทการทำงานที่เปลี่ยนแปลง สื่อสารและสร้างความร่วมมือกับผู้อื่น และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีได้ โดยใช้การฝึกอบรม/พัฒนา การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน
1.1 ในปี 2562 เป็นการอบรม ที่เน้นให้เกิดความความตระหนักถึง Digital Disruption โดยเชิญวิทยากร จากหน่วยงานชั้นนำมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทักษะการนำเสนอแบบใหม่ เพื่อจะนำไปปรับใช้กับงาน โดยการจัดบรรยาย Knowledge sharing ประกอบด้วย
1) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล"
2) หลักสูตร “ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ผลกระทบและการรับมือ"
3) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ "ถอดรหัสบทเรียน Estonia"
4) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Digital Transformation"
5) หลักสูตร Microsoft Team: Collaboration Tool
6) หลักสูตร Infographic Presentation
7) หลักสูตร Agile Organization
1.2 สนับสนุนการฝึกอบรมสำหรับพนักงานกลุ่มตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) งานด้านความปลอดภัย ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Security) และงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น FinTech ICO STO Blockchain เป็นต้น งานด้าน Data Analytics ให้มีประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานในการทำงาน ได้แก่ CISA (Certified Information Systems Auditor) CISM (Certified Information Security Manager) และ CISSP (Certified Information Systems Security Professional)
2. การเตรียมความพร้อมพนักงานในการทำงาน มีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานใหม่มีความเข้าใจในความรู้พื้นฐานและวัฒนธรรมองค์กร ดังนี้
2.1 ด้านความรู้ตลาดทุน ได้พัฒนาหลักสูตรพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ โดยใช้รูปแบบการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อปรับให้เข้าแนวทางการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วยหลักสูตร
เรากับระบบเศรษฐกิจ
พื้นฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
การออกและเสนอขายหลักทรัพย์
การกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหลัง IPO
ตลาดการซื้อขายหลักทรัพย์และการกำกับดูแล
นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจตัวกลาง และการกำกับดูแล
การกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน
ความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์
2.2 ด้านการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมค่านิยม “เปิดใจ" “รู้จริง" “ร่วมมือ" “ซื่อตรง" และปลูกฝังแนวคิดการทำงานเพื่อส่วนรวม (Public Minded)
3. สนับสนุนการไปฝึกอบรม ดูงานและแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรในต่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเปิดมุมมองในการทำงานให้มีความเป็นสากล สนับสนุนให้พนักงานไปปฏิบัติงานจริงในองค์กรชั้นนำ ดังนี้
3.1 ส่งพนักงานฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ เข้าร่วมโครงการ Secondment ตำแหน่ง Advisor ประจำ IOSCO General Secretariat เป็นระยะเวลา 2 ปี ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน
3.2 ส่งพนักงานฝ่ายกำกับการสอบบัญชี ไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ KPMG Management & Risk Consulting Sdn. Bhd. ประเทศมาเลเซีย
3.3 ส่งพนักงานจากฝ่ายงานต่าง ๆ ไปพัฒนาเพื่อพัฒนาความรู้ด้านตลาดทุนและสร้างเครือข่ายกับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ ได้แก่ IOSCO, US SEC, MAS, APEC, CFTC เป็นต้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีรูปแบบการพัฒนาอื่น ๆ ได้แก่ การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโททั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
1) การให้ทุนการศึกษาในประเทศ (สาขา IT) (นอกเวลาทำการ) ประเภททุนเต็มจำนวน สำหรับพนักงาน จำนวน 5 ทุน เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทหรือ Certificate ในสถาบันการศึกษาภาครัฐหรือเอกชนที่เปิดการเรียนการสอนด้าน Digital transformation หรือ IT เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพด้าน Digital และ IT ให้แก่พนักงาน รวมทั้งเพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของพนักงานให้เท่าทันสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคมโลกปัจจุบัน
2) การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทต่างประเทศ (ในเวลาทำการ) ประเภททุนเต็มจำนวน สำหรับพนักงาน จำนวน 2 ทุน สาขา Data Analytic, IT (โดยให้หมายรวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้องด้าน Digital เช่น Digital Regulation, Digital Transformation, FinTech, Digital Organization Development เป็นต้น) กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงินและบัญชี
4. การปรับปรุงวิธีการพัฒนาพนักงาน ในปี 2562 ก.ล.ต. มีการปรับปรุงวิธีการพัฒนาโดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้น ลดการเรียนรู้ในห้องเรียน ให้เป็นการเรียนแบบออนไลน์ ช่วยให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ในหลากหลายอุปกรณ์และหลากหลายประเภท เช่น Mobile คอมพิวเตอร์ Notebook เป็นต้น และเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่พนักงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้โดยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ผู้บังคับบัญชามีบทบาทในการพัฒนาพนักงานโดยตรงในลักษณะการสอนงาน การมอบหมายงานให้ปฏิบัติจริง (on the job training) เพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ทันกับความเปลี่ยนแปลง และมีโอกาสที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินการพัฒนาพนักงาน ดังนี้
4.1 จำนวนชั่วโมงที่พนักงาน มีการเรียนทางออนไลน์ทั้งหมด 346.5 ชั่วโมง
4.2 จำนวนชั่วโมงที่จัดให้มีการฝึกอบรมแยกตามระดับพนักงาน
4.2.1 หมวดต่ำกว่าบริหารงาน 956 ชั่วโมง
4.2.2 หมวดบริหารงาน 7,208 ชั่วโมง
4.2.3 หมวดบริหารจัดการ 5,309 ชั่วโมง
4.2.4 หมวดอำนวยการ 915 ชั่วโมง
5. การปลูกฝังค่านิยมองค์กร การเสริมสร้างความผูกพัน และปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ก.ล.ต. มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งค่านิยมองค์กร (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) เสริมสร้างความผูกพันบุคลากร รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
5.1 กิจกรรมปลูกฝังและส่งเสริมค่านิยมองค์กร โดยเน้นย้ำความสุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม ในการทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยการจัดบรรยายเรื่องพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม 2 ครั้ง โดยมีท่านเลขาธิการ และคุณวิรุฬ เพียรล้ำเลิศ ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นวิทยากร เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมค่านิยมองค์กร โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการปฏิบัติงานด้วยความสุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน
5.2. กิจกรรม Voice for Better Life, Better SEC เพื่อปลูกฝังค่านิยมองค์กร (เปิดใจ ร่วมมือ) เพื่อให้พนักงานทั้งองค์กรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาองค์กรในมิติต่าง ๆ และร่วมกันปรับปรุงและวางแนวทางในการทำงานเพื่อให้พนักงานทุกระดับสามารถแสดงศักยภาพในการทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีส่วนในการส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานซึ่งกันและกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน
5.3 กิจกรรมส่งเสริมและปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ ก.ล.ต. เป็นองค์กรภาครัฐ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กร มีความรักชาติ ศาสนา และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของประเทศ สืบสานทำนุบำรุงพระศาสนาและศิลปะวัฒนธรรมของชาติ และมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย ดังนี้
5.3.1 กิจกรรมการบรรยายพิเศษและทัศนศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชาติ คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทยตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ในการสืบสานดำรงรากฐานวัฒนธรรมความเป็นชาติ ผ่านทางศิลปวัตถุโบราณ งานประณีตศิลป์สถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์และยุคสมัยต่าง ๆ และสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญต่าง ๆ ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครและกรมศิลปากรได้เก็บรักษาและทำเป็นสื่อเผยแพร่ความรู้ เพื่อประชาชนชาวไทยได้ระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษไทยและนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
5.3.2 กิจกรรมทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล และถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระราชินี
5.3.3 กิจกรรมทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
6. กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญในการออกกำลังกาย เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้จัดกิจกรรม Fit & Firm 90 Days Challenge และ กิจกรรม กีฬาสีสัมพันธ์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร และกรรมการ ก.ล.ต.
7. การดูแลและช่วยเหลือสังคม
ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการดูแลและช่วยเหลือสังคม ไม่เพียง การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในโอกาสต่าง ๆ ก.ล.ต. ยังสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการช่วยเหลือโดยให้โอกาสผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อให้สามารถประกอบสัมมาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเอง อันเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่ง ดังนี้
จ้างผู้พิการทางสายตามาให้บริการแก่พนักงานในกิจกรรมนวดเพื่อบรรเทาอาการ office syndrome สัปดาห์ละ 2 วัน โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว
ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน “บ้านกึ่งวิถี SHE (Social Health Enterprise)" โดยการจัดกิจกรรม “นวดดัดจัดสรีระ" ให้กับพนักงาน กิจกรรมนี้เป็นการช่วยยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อข้อต่อตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา “บ้านกึ่งวิถี SHE" ก่อตั้งโดย นพ. พูลชัย จิตอนันตวิทยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ดำเนินการฝึกอาชีพการ “นวดดัดจัดสรีระ" ให้แก่ผู้ต้องขังหญิง เมื่อพ้นโทษแล้ว “บ้านกึ่งวิถี SHE" จะรับอดีตผู้ต้องขังหญิงมาประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้ เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ให้การสนับสนุนและให้พนักงานไปจัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารกลางวัน บริจาคเงินและสิ่งของให้แก่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (หญิง) จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีภารกิจเลี้ยงดูเด็กหญิงที่มีความบกพร่องทางสมองและปัญญา
จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ณ สภากาชาดไทย ในวาระและโอกาสสำคัญต่าง ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาทุกปี เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยที่ต้องการโลหิตในการรักษา
การบริหารงานบุคคล ก.ล.ต. มีหลักการสำคัญในด้านการบริหารบุคคล ดังนี้
1. หลักความเป็นธรรมและเสมอภาค โดยมุ่งเน้นระบบคุณธรรม การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ในเรื่องการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน รวมตลอดถึงการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมในทุกระดับ
2. หลักความซื่อสัตย์สุจริต ให้ความสำคัญและยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกระดับชั้น ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและของประเทศชาติเป็นสำคัญ
3. หลักความเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของพนักงาน ให้ความสำคัญและยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และแนวทางการดำรงชีวิตของพนักงาน โดยที่การพิจารณากำหนดกฎระเบียบ ตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะพิจารณาโดยคำนึงถึงความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและให้ความสำคัญกับความเคารพนับถือตนเองของพนักงานในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญด้วย
4. การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีความตระหนักว่า คุณภาพชีวิตมีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพของงานและเป็นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ซึ่งความหมายของคุณภาพชีวิตนั้น หมายรวมถึง ความพึงพอใจในงาน ดุลยภาพในชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว สภาวะความเครียดจากการทำงาน การมีความหลากหลายในชิ้นงานเพื่อลดความจำเจ
5. การสร้างสภาพการทำงานที่ดี การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความปลอดภัยสะดวกสบาย และเป็นสถานที่ที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับการทำงาน
ระบบการประเมินผลงานพนักงาน
ก.ล.ต. ใช้ระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน (performance management system) ในการประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องคุณภาพงาน ความสำเร็จของงานตามที่ได้รับมอบหมาย การปรับปรุงประสิทธิภาพและกระบวนการทำงาน การพัฒนาทีมงาน การให้ Feedback/Coaching รวมถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องตามค่านิยมองค์กร
นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน
นโยบายในการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานคำนึงถึงความเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความเป็นธรรม รวมถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ประกอบด้วย (1) เงินเดือนพื้นฐานที่จ่ายให้พนักงานตามระดับตำแหน่ง รวมถึงประสบการณ์และความซับซ้อนของงาน และสภาวะตลาดในประเทศ โดยยึดหลักความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร (2) ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ๆ ที่จ่ายให้ตามลักษณะงาน เช่น เงินค่าวิชาชีพ เงินรางวัลประจำปี (3) สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่น ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารถประจำตำแหน่ง ค่าการสื่อสาร เป็นต้น