เพื่อให้การดำเนินการของ ก.ล.ต. เป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ก.ล.ต. จึงกำหนดมาตรการจัดการเรื่องร้องเรียนการทุจริตดังนี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้มีระบบและแนวทางดำเนินการสำหรับเรื่องร้องเรียนและเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดและการทุจริต
2. เพื่อกำหนดช่องทางสำหรับพนักงานหรือบุคคลภายนอกในการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือทุจริต
3. เพื่อป้องปรามไม่ให้พนักงานกระทำความผิดและทุจริต
4. เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดและการทุจริต จากการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือการกระทำในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
มาตรการ
1. ช่องทางการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสการกระทำที่เข้าข่ายกระทำการทุจริต
พนักงานทุกคนมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแล หากพบว่าพนักงานรายใดมีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำการทุจริต อันอาจทำให้เกิดข้อครหาซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. พนักงานที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าว ต้องให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการกระทำดังกล่าวต่อ ก.ล.ต.โดยตรง โดย ก.ล.ต. ได้จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสไว้ดังนี้
(1) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
(2) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล โทรศัพท์/โทรสาร 0-2033-9665 หรือ e-mail : HRDirector@sec.or.th
(3) งานรับเรื่องร้องเรียน แจ้งผ่าน e-mail : whistle@sec.or.th
(4) download แบบฟอร์มร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
ก.ล.ต.
(5) กรอกแบบฟอร์มร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบออนไลน์
ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนหรือเบาะแสต้องเป็นเรื่องที่มีข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสได้ประสบมา หรือรับรู้จากแหล่งที่น่าเชื่อถืออ้างอิงได้ และหากผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส สามารถระบุพยานหลักฐาน หรือพยานบุคคล ซึ่งสามารถให้รายละเอียดเหตุการณ์ หรือวันเวลาที่ชัดเจนได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการของ ก.ล.ต.
2. การบังคับใช้
ผู้บังคับบัญชาทุกลำดับชั้นและฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำการทุจริต โดยมีหน้าที่ติดตาม สอดส่องให้มีการปฏิบัติตามวินัยพนักงานโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ เมื่อพนักงานมีข้อสงสัย พนักงานควรปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ส่วนงานที่ออกระเบียบปฏิบัติ หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล
3. กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำการทุจริต
(1) การรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส
เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้ฝ่ายตรวจสอบภายในส่งหนังสือ
แจ้งการรับเรื่องไปยังผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส (กรณีที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสเปิดเผยตนเอง) และดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับทราบ และในกรณีการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายในดำเนินการเอง
(2) การรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริง และการลงโทษผู้ฝ่าฝืน
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้ถูกแจ้งเบาะแสทราบ และให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว โดยอาจมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งหากเป็นกรณีที่เข้าข่ายการทุจริต ก.ล.ต. จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย รวมทั้งพิจารณาลงโทษตามขั้นตอนและระดับโทษที่กำหนดในหมวดวินัยและการลงโทษทางวินัย ข้อบังคับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการพนักงาน ต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ นี้ ก.ล.ต.ได้กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส และผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลซึ่งอาจได้รับผลกระทบด้วย
(3) การสรุปและรายงานผล
ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สรุปข้อเท็จจริง ผลการดำเนินการ และความเห็นส่งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะรายงานผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสทราบด้วย (กรณีที่ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสเปิดเผยตนเอง) ต่อไป
4. มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลการทุจริต
ผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลจะได้รับความคุ้มครอง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตนเอง หากเห็นว่าการเปิดเผยตนเองอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือเกิดผลกระทบใด ๆ กับตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดของตน
(2) ข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสอบหาข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบต่อผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแส ผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูล และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ
(3) ผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลหรือให้ข้อมูลโดยสุจริต จะไม่ถูกดำเนินการลงโทษทางวินัย และจะได้รับการคุ้มครองจากการกระทำที่ทำให้ได้รับผลกระทบหรือไม่ปลอดภัย เช่น การข่มขู่ การคุกคาม การหน่วงเหนี่ยว การรบกวนการทำงาน หรือการกระทำที่เป็นการ กลั่นแกล้งหรือทำให้ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
(4) ในกรณีที่ผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูล เชื่อว่าตนเอง ถูกข่มขู่ คุกคาม หน่วงเหนี่ยว รบกวนการทำงาน หรือการกระทำที่เป็นการกลั่นแกล้ง หรือทำให้ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ให้รายงานต่อประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยทันที และหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้รายงานผ่านช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสข้างต้น ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียน ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลสามารถร้องขอให้ ก.ล.ต. กำหนดมาตรการคุ้มครองใด ๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้