Detail Content
การจัดตั้ง ก.ล.ต.
ตลาดทุนมีบทบาทในการเป็นแหล่งระดมเงินทุนภาคธุรกิจมานานแล้ว โดยก่อนที่จะมี ก.ล.ต. การพัฒนาตลาดทุนมุ่งเน้นไปที่ตลาดรองซึ่งเป็นตลาดเพื่อการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์เป็นหลัก ในขณะที่ตลาดแรกซึ่งเป็นตลาดสำหรับการระดมทุนของภาคธุรกิจด้วยการออกหลักทรัพย์เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในขณะนั้นยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งการกำกับดูแลตลาดทุนในช่วงนั้นอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน กล่าวคือ
การที่อำนาจหน้าที่และการกำกับดูแลดังกล่าวกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานและหลายกฎหมาย ทำให้มีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ขาดเอกภาพและขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการซื้อขายในตลาดหุ้นช่วงปี พ.ศ. 2530 มีความคึกคัก มีการเข้ามาเก็งกำไรมาก ทำให้เกิดการซื้อขายในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม และยังขาดมาตรการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งเพื่อเอื้ออำนวยต่อการออกตราสารทางการเงินประเภทใหม่ ๆ และมีบทบัญญัติที่ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบที่ชัดเจน จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และจัดตั้ง ก.ล.ต. ขึ้น เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535
เมื่อตลาดทุนมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทรัสต์ เทคโนโลยีทางการเงิน ดังนั้น เพื่อรองรับการกำกับดูแลและพัฒนาตราสารและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ก.ล.ต. จึงได้ตรากฎหมายขึ้นรองรับ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ตามลำดับ