Sign In
การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยธนาคารโลก​

​​ธนาคารโลกได้ประกาศยกเลิกการจัดทำรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ในเดือนกันยายน 2564  อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ Business Enabling Environment (BEE) เพื่อทดแทนการประเมินตามรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ โดยคาดว่าโครงการ Business Enabling Environment (BEE) จะกำหนดแนวทางการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนขึ้นใหม่ ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ จนกระทั่งการเลิกธุรกิจ ผ่านการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของกฎหมายและกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจของประเทศต่าง ๆ

ในระหว่างที่ธนาคารโลกจัดทำแนวทางการประเมินใหม่ดังกล่าว รัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงมุ่งมันที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย


​​​​​อันดับ Doing Business 2020 ของประเทศไทย

ก.ล.ต. เผยผลสำเร็จด้านคุ้มครองผู้ลงทุนของไทยพุ่งสู่อันดับ 3 ของโลก ใน Doing Business Report 2020
(คลิกดูเพิ่มเติมได้ที่ ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 152/2562)​​​


การประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยธนาคารโลกนั้น ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน โดยธนาคารโลกจะเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณาจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคของธนาคารโลก สำหรับรอบปี 2020 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลกจากผลการประเมินด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

 doing business 2020 - picture 1

 

doing business 2020 - table 1

​ 

ตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย

สำนักงาน ก.ล.ต. รับผิดชอบในตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวจะประเมินการให้ความคุ้มครองผู้ถือหุ้นจากการที่กรรมการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากทรัพย์สินของบริษัท รวมทั้งสิทธิของผู้ถือหุ้นในการสอดส่องดูแลการดำเนินกิจการของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากผลการประเมินในหัวข้อนี้ออกมาดี ก็จะทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะลงทุนมากขึ้นและส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและตลาดทุนในภาพรวม ​ซึ่งตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยมีหัวข้อและรายละเอียดในการประเมิน ดังนี้

doing business 2020 - picture 2

ความคุ้มครองตามกฎหมายไทยและพัฒนาการที่สำคัญ

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสำหรับตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยดีขึ้นจากปีที่แล้ว จากอันดับที่ 15 มาเป็นอันดับที่ 3 และหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค East Asia & Pacific ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 2 ร่วมกับประเทศสิงคโปร์ เป็นรองเพียงประเทศมาเลเซีย อันเป็นผลมาจากการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ริเริ่มประชุมทางไกล (conference call) กับผู้ประเมินของธนาคารโลก จากกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นครั้งแรก โดยเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ร่วมชี้แจงพร้อมกับตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีการชี้แจงและแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้ธนาคารโลกเข้าใจบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายไทยในส่วนของการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากผลการประเมินในหลายหัวข้อมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยมีรายละเอียดคะแนน เปรียบเทียบกับผลการประเมินประจำปี 2019 ดังนี้

 

 doing business 2020 - picture 3

 doing business 2020 - table 2

การดำเนินการชี้แจงข้อมูลและข้อกฎหมายของสำนักงาน

ด้านความรับผิดของกรรมการ (Extent of director liability index)

กฎหมายไทยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยในการฟ้องร้องกรรมการให้รับผิดจากการกระทำการหรือละเว้นกระทำการ อันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ ากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเรียกคืนผลประโยชน์ที่กรรมการได้รับแทนบริษัทได้ อีกทั้งยังมีมาตรการลงโทษ ทั้งทางอาญา และทางแพ่งที่ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 เพื่อห้ามไม่ให้บริษัทยกเว้นความรับผิดให้แก่กรรมการที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และกำหนดให้บริษัทต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการที่กระทำความผิดนั้นด้วย

ด้านความสะดวกในการฟ้องคดีโดยผู้ถือหุ้น (Extent of shareholder suits index)

ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นต้องการฟ้องร้องบริษัทหรือคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งกำหนด ขั้นตอนและวิธีการในการฟ้องร้องคดีแพ่ง โดยกฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าโจทก์สามารถอ้างพยานหลักฐานโดยระบุเพียงสภาพของเอกสารโดยไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดของเอกสารอย่างเฉพาะเจาะจงในบัญชีระบุพยาน และกฎหมายก็กำหนดเพียงขั้นตอนในการสืบพยานของโจทก์และจำเลย เช่น ลำดับในการซักถาม ถามค้าน และถามติงเท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดว่าการซักถามพยานต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ทำให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการฟ้องคดีได้โดยสะดวก

ด้านสิทธิของผู้ถือหุ้น (Extent of shareholder rights index)

ตัวชี้วัดด้านสิทธิของผู้ถือหุ้นวัดผลจากการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท เพื่อให้ได้รับผลการประเมินที่ดีขึ้น สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นโดยการเสนอให้มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการส่งเอกสาร (e-delivery) การมอบฉันทะ (e-proxy) หรือการโฆษณาข้อความที่เกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการเสนอวาระการประชุมได้ง่ายยิ่งขึ้น อันจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อควบคุม สอดส่อง และร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัทได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

UPDATE: ปัจจุบัน พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 รองรับการประชุมคณะกรรมการและการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535  เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับ พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563


ด้านความความเป็นเจ้าของและการควบคุม (Ownership and Control Index)

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.15/2563  เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทซึ่งเสนอขายหุ้นต่อประชาชนต้องมิใช่บุคคลเดียวกัน  ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2563  กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมิใช่บุคคลเดียวกันให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนดังกล่าวด้วย  นอกจากนี้ สำนักงาน ยังได้ออกหนังสือเวียนถึงที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทจดทะเบียนขอความร่วมมือให้บริษัท IPO และบริษัทจดทะเบียนแยกประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ออกจากกัน ตามหลักปฏิบัติของ CG Code  ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกรรมการและฝ่ายจัดการ 

 

UPDATE:       สำนักงานออกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 35/2564  เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564  กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประธานกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชน (Secondary Public Offering: SPO) ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลเรื่องการดำรงสถานะของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวกับประธานกรรมการและบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น

 

ด้านความโปร่งใสในการบริหารจัดการบริษัท (Extent of corporate transparency index)

พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้รองรับสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 5% ให้สามารถเสนอเรื่องเพื่อขอให้คณะกรรมการบริษัทบรรจุเป็นวาระการประชุมผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องบรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดให้มีขึ้นภายในเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้ คณะกรรมการจะปฏิเสธการบรรจุเป็นวาระการประชุมได้เฉพาะเมื่อเข้าเหตุที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นในเรื่องนี้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งโดยบัญญัติว่า หากคณะกรรมการปฏิเสธการบรรจุเรื่องที่เสนอโดยผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใด คณะกรรมการต้องแจ้งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเพื่อทราบในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนั้นโดยต้องระบุเหตุผลในการปฏิเสธไว้ด้วย และหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้บรรจุเรื่องที่เสนอโดยผู้ถือหุ้น คณะกรรมการต้องบรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งถัดไป ซึ่งเป็นการให้อำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้ายแก่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั่นเอง

บทสรุป

ภาพรวมการประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยในรอบปี 2020 อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยนอกจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งมีการให้ความคุ้มครองผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยไว้อย่างเข้มแข็งแล้ว ยังมีการผลักดันการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและเพื่อรองรับให้สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการสื่อสารระหว่างบริษัท ผู้ถือหุ้น และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบข้อมูลข่าวสารของบริษัทได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจึงเป็นผลทำให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทมากขึ้นและสามารถออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ตามความต้องการของผู้ถือหุ้นที่แท้จริง นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีระบบ e-delivery
ในการจัดส่งเอกสาร รวมถึง e-proxy เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมแทนตนได้สะดวกยิ่งขึ้น
อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นให้ยังคงใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นแม้จะไม่สามารถเข้าประชุมได้ด้วยตนเองก็ตาม


สถิติข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535



เอกสารที่เกี่ยวข้อง


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกฎหมายระดมทุน​

0 2263 6386