บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดแนวทางการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัทจัดการกองทุนรวม และได้รับการพิจารณาทบทวนความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมจากคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเมื่อปรากฏเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่ชักช้า และดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวซึ่งต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) โครงสร้างการบริหารและจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแล
(2) การบริหารและจัดการความเสี่ยงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
(3) การติดตามความเสี่ยงและปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวม
(4) เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม
(5) การทดสอบผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ (stress test)
เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง
บริษัทจัดการกองทุนรวม ต้องจัดให้กองทุนรวมใดที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง ตามหลักการดังต่อไปนี้โดยครบถ้วน
(1) มีการกำหนดให้ผู้ที่ทำรายการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในวันที่มีปริมาณการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมถึงระดับมีนัยสำคัญ หรือมีการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนที่กำหนด หรือมีการขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำธุรกรรมของกองทุนรวมเพื่อรองรับการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนนั้นได้
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจำกัดปริมาณการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของกองทุนรวมในแต่ละขณะได้
(3) กรณีทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถจำหน่ายได้ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเลือกใช้วิธีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนให้สอดคล้องกับกรณีดังกล่าว
(4) บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนได้หากเห็นว่ามีความจำเป็นและการดำเนินการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
โดยเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจัดให้มีได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 การกำหนดให้ผู้ลงทุนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย
(ก) การกำหนดค่าธรรมเนียมการขายคืนที่ไม่เป็นไปตามปริมาณหรือระยะเวลาที่กำหนด (liquidity fee)
(ข) การปรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิด้วยสูตรการคำนวณที่สะท้อนต้นทุนในการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม (swing pricing)
(ค) การเพิ่มค่าธรรมเนียมการซื้อขายหน่วยลงทุนที่สะท้อนต้นทุนในการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม (anti-dilution levies – ADLs)
ทั้งนี้ หากการจัดให้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในกลุ่มที่ 1 ขัดแย้งกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุน และการเก็บค่าธรรมเนียมในเรื่องดังกล่าวที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ขัดแย้งนั้น
กลุ่มที่ 2 การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ประกอบด้วย
(ก) การกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการขายคืนหน่วยลงทุน (notice period)
(ข) การกำหนดเพดานการขายคืนหน่วยลงทุน (redemption gate)
(ค) การกำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนในกรณีทรัพย์สินของกองทุนรวมประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถจำหน่ายได้ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล (side pocket)
(ง) การไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้แล้วหรือจะหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน (suspension of dealings) โดยสามารถดำเนินการได้สูงสุดไม่เกิน 5 วันทำการ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต.
ทั้งนี้ หากการจัดให้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในกลุ่มที่ 2 ขัดแย้งกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน และการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนในเรื่องดังกล่าวที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ขัดแย้งนั้น