Detail Content
การกำกับรายงานทางเงินและผู้สอบบัญชี
2. การกำกับดูแลผู้สอบบัญชี
2.7 Independent Audit Oversight
หลักการและที่มา
สืบเนื่องจากกรณีการตกแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ นานาประเทศจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพรายงานทางการเงินมากขึ้น โดยมาตรการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดให้มีระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในอนาคต รวมทั้ง International Organization of Securities Commissions ("IOSCO") ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "Principles for Auditor Oversight" เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพของหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิก IOSCO และต่อมาภายหลังจากที่หลายประเทศได้มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการสอบบัญชีที่เป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพแล้ว ก็ได้เกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อจัดตั้ง International Forum of Independent Audit Regulators ("IFIAR") ขึ้น ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระจากประเทศต่าง ๆ โดยหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเป็นสมาชิกของ IFIAR ได้ จะต้องมีความเป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกันกับแนวทางปฏิบัติของ IOSCO ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับความน่าเชื่อของผู้สอบบัญชีไทย อันจะส่งผลให้เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทย และเป็นการพัฒนาระบบการรายงานทางการเงินของไทยไปสู่มาตรฐานสากล ในปลายปี 2553 ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการสอบบัญชี โดยให้ผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทยจะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ International Forum of Independent Audit Regulators ("IFIAR") ตั้งแต่กันยายน 2553 เพื่อให้ระบบการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของหน่วยงานอิสระของต่างประเทศอีกด้วย