ข้อ
๔ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาคำขอที่ยื่นตามกฎกระทรวงนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและหลักฐานครบถ้วน
ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้และเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าสมควรให้ความเห็นชอบและสมควรออกใบอนุญาตให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต
ข้อ
๕ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่รัฐมนตรีออกให้ตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ
๖ บริษัทใดได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่รัฐมนตรีออกให้ตามกฎกระทรวงนี้
ต้องประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประเภทที่ได้รับอนุญาตภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการ
ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
หมวด ๑
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่
บริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันระหว่างบริษัทหลักทรัพย์
ข้อ
๗ เมื่อบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน
หากประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่บรรดาบริษัทหลักทรัพย์นั้นมีอยู่ในขณะยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากันต่อไป
ให้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากัน
และคำขอให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยผู้ยื่นคำขอต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งและการดำเนินงานของบริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันด้วย
ในการควบบริษัทเข้ากันตามวรรคหนึ่ง หากมีบริษัทหลักทรัพย์บริษัทหนึ่งบริษัทใดได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนอยู่ด้วย
การควบบริษัทเข้ากันในกรณีดังกล่าวจะมีบริษัทเงินทุนเข้าควบบริษัทเข้ากันด้วยก็ได้
การให้ความเห็นชอบคำขอตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทได้มีมติให้ควบบริษัทเข้ากัน
(๒) บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่ขอรับใบอนุญาตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ
ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
(๓) บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันจะมีความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
ณ วันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับได้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ
๘ ในกรณีที่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบคำขอควบบริษัทเข้ากันของบรรดาบริษัทตามข้อ
๗ ให้รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) บรรดาบริษัทตามข้อ ๗
ต้องดำเนินการควบบริษัทเข้ากันและจดทะเบียนบริษัทใหม่ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้วแต่กรณี
(๒) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่การจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่มีผลสมบูรณ์
โดยมีเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในขณะให้ความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากัน
เว้นแต่จะปรากฏในภายหลังว่าเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้นั้นมีสภาพบังคับที่ไม่เหมาะสม
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่นก็ได้
ในกรณีที่มิได้มีการควบบริษัทเข้ากันหรือมิได้มีการจดทะเบียนบริษัทใหม่ภายในระยะเวลาตาม
(๑) ให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นอันสิ้นสุดลง
เว้นแต่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่น
ข้อ
๙ เมื่อบริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันตามหมวดนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่จะมีผลทำให้บุคคลใดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
หมวด ๒
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่
บริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันของสถาบันการเงิน
ข้อ
๑๐ เมื่อบรรดาสถาบันการเงินประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน
หรือสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทเงินทุนหรือธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน
และได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการควบสถาบันการเงินเข้ากันตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินนั้นแล้วแต่กรณีแล้ว
หากประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันดังกล่าวประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่บรรดาสถาบันการเงินนั้นมีอยู่ในขณะยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากันต่อไปให้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากัน
และคำขอให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้
การให้ความเห็นชอบคำขอตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการควบสถาบันการเงินเข้ากัน
ตามวรรคหนึ่งแล้ว
และผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทได้มีมติให้ควบบริษัทเข้ากัน
(๒) บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่ขอรับใบอนุญาตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
ข้อ ๑๑
ให้นำความในข้อ ๘ ของหมวด ๑
มาใช้บังคับกับการออกใบอนุญาตตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๓
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทลูก
ข้อ
๑๒ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอตามหมวด
๑ แห่งกฎกระทรวงนี้ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทลูกบริษัทหนึ่งหรือหลายบริษัทเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามจำนวน
และประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ที่ไม่เกินกว่าจำนวนและประเภทของใบอนุญาตที่บริษัทหลักทรัพย์แต่ละบริษัทมีอยู่ในขณะยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากันหักด้วยจำนวนและประเภทของใบอนุญาตที่ผู้ยื่นคำขอตามหมวด
๑ ได้มีคำขอให้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท
ซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันแล้ว ให้ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอรับความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูกแต่ละบริษัทมาพร้อมกับการยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากันตามหมวด
๑ โดยผู้ยื่นคำขอต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งและการดำเนินงานของบริษัทลูกซึ่งจะจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย
การให้ความเห็นชอบคำขอจัดตั้งบริษัทลูกตามวรรคหนึ่ง
ให้กระทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบคำขอควบบริษัทเข้ากันของผู้ยื่นคำขอด้วยและผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑)
บริษัทลูกมีวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และมีความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนและบุคลากร
(๒) บริษัทลูกจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ที่ขอรับใบอนุญาตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ
ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
(๓)
บริษัทลูกจะมีความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ณ วันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับได้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
(๔) ผู้ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทลูกเมื่อบริษัทลูกได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๓
ข้อ
๑๓
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอได้กำหนดหรือมีความตกลงไว้ล่วงหน้าว่าจะให้บริษัทแม่หรือนิติบุคคล
หรือบุคคลธรรมดารายใดเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกไม่ว่าโดยทางตรง
หรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทลูก
เมื่อบริษัทลูกได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีของบริษัทแม่
(ก)
ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
นิติบุคคลแต่ละราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอไม่เคยมีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวง
หรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ หรือความรอบคอบหรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม
หรือไม่น่าเชื่อถือ เว้นแต่กรณีที่เห็นเป็นการสมควร
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันลักษณะต้องห้ามดังกล่าวให้แก่บุคคลนั้นได้
(ข)
ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้จัดการของนิติบุคคลแต่ละรายซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
๑. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (ก) โดยอนุโลม
๒. ไม่มีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
๓. ภายในระยะเวลาสิบปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
บุคคลดังกล่าวไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
๔. ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
บุคคลดังกล่าวไม่เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน
หรือธนาคารพาณิชย์ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลนิติบุคคลนั้น ๆ
๕. ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
บุคคลดังกล่าวไม่เคยเป็นประธานกรรมการ กรรมการ
ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์
ตามกฎมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน
หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
หรือถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกควบคุมกิจการ เว้นแต่กรณีที่เห็นเป็นการสมควร
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันลักษณะต้องห้ามดังกล่าวให้แก่บุคคลนั้นได้
(๒) ในกรณีของนิติบุคคล
(ก)
นิติบุคคลดังกล่าวไม่มีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(ข)
นิติบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑)(ก) และ (ข)
โดยอนุโลม
(๓) ในกรณีของบุคคลธรรมดา บุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม
(๑)(ข) โดยอนุโลม
ข้อ
๑๔ ในกรณีที่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบคำขอจัดตั้งบริษัทลูก ให้ความเห็นชอบดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่การจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ของบริษัทแม่มีผลสมบูรณ์ เมื่อความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ให้บริษัทแม่ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกให้เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ
และเมื่อบริษัทลูกได้จดทะเบียนจัดตั้งแล้ว ให้บริษัทลูกเป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งออกให้แก่บริษัทลูกให้มีเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
ได้กำหนดไว้ในขณะที่ให้ความเห็นชอบคำขอจัดตั้งบริษัทลูก เว้นแต่จะปรากฏในภายหลังว่าเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้นั้นมีสภาพบังคับที่ไม่เหมาะสม
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่นก็ได้
ในกรณีที่บริษัทแม่มิได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูก
หรือการจัดตั้งบริษัทลูกมิได้เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ
หรือบริษัทลูกมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ภายในหกเดือนนับแต่วันที่การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ
ให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นอันสิ้นสุดลง เว้นแต่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่น
ข้อ
๑๕ การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้แก่บริษัทลูก
ให้กระทำได้ต่อเมื่อบริษัทลูกได้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นมาพร้อมกันตามหมวดนี้
และจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้นจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
ข้อ
๑๖ ให้นำความในข้อ ๙ ของหมวด
๑ มาใช้บังคับกับบริษัทลูกซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม มิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทลูกเมื่อบริษัทลูกได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้วตามที่ผู้ยื่นคำขอได้แสดงไว้ในคำขอจัดตั้งบริษัทลูกตามข้อ
๑๒(๔) เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ในข้อ
๑๓
ภายหลังจากที่ได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูกตามข้อ ๑๒ แล้ว
หมวด
๔
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์อื่น
ข้อ
๑๗ บริษัทหลักทรัพย์ใดซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์อื่น
โดยการซื้อหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์อื่นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าขึ้นไปของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์อื่นนั้น
บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งซื้อกิจการจะขอรับโอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง
หรือหลายประเภทจากบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการก็ได้
โดยให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่จะขอรับโอน
และให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันนั้นมาพร้อมกัน
การอนุญาตตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการมีมติเห็นชอบให้บริษัทขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้นได้ โดยต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านมติดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(๒) บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการได้ซื้อซื้อหรือมีความตกลงไว้ล่วงหน้าว่าจะซื้อสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับโอนรวมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของสินทรัพย์ที่อาจโอนกันได้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อกิจการตามหมวดนี้มีผลใช้บังคับ
(๓) บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการแสดงได้ว่าตนจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับโอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
และประกาศสำนักงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
ข้อ
๑๘ ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์อื่นตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ในวันเดียวกับวันที่ยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการ
ข้อ
๑๙ เมื่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งซื้อกิจการตามหมวดนี้มีผลใช้บังคับแล้ว
ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการซื้อสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งถูกซื้อกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับโอนตามที่ได้แสดงไว้ในคำขอรับใบอนุญาต
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามข้อ ๑๗ วรรคสอง (๒)
เว้นแต่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่น
ข้อ
๒๐ ให้นำความในข้อ ๙ ของหมวด
๑ มาใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ
๒๑ บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวดนี้จะจำหน่ายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกตนซื้อกิจการให้แก่บุคคลใด
ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์นั้นได้
ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
ประกาศกำหนด
หมวด ๕
ค่าธรรมเนียม
ข้อ
๒๒ ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นดังนี้
(๑) การยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากัน
และคำขอให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
สำหรับแต่ละบริษัทที่จะควบบริษัทเข้ากันบริษัทละ
๒๕,๐๐๐ บาท
(๒) การยื่นคำขอรับความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูกแต่ละบริษัทเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
คำขอละ ๕๐,๐๐๐ บาท
(๓)
การยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ คำขอละ ๒๕,๐๐๐ บาท
ข้อ
๒๓ ภายใต้บังคับวรรคสอง
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทได้รับตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นดังนี้
(๑) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์
อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้
ให้ชำระตามอัตรา และกำหนดเวลาตามนัยแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒
(พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
(๒) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้ชำระตามอัตรา
และกำหนดเวลาตามนัยแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.
๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
(๓) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ให้ชำระตามอัตราและกำหนดเวลาตามนัยแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙
(พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
ให้บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้
ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งประเภทหนึ่งประเภทใดหรือหลายประเภท
สำหรับปีปฏิทินแรกที่ได้รับใบอนุญาตเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่เป็นการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวด ๑
หรือหมวด ๒ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรากฏหลักฐานว่า
ไม่มีบริษัทหนึ่งบริษัทใดที่ควบบริษัทเข้ากันค้างชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
(๒) กรณีที่เป็นการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวด
๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งขออนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันนั้น
มิได้ค้างชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทดังกล่าว
ข้อ
๒๔ นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในข้อ
๒๓ บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามหมวด ๑ หมวด
๒ หรือหมวด ๔ ต้องรับผิดชำระบรรดาค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และเงินเพิ่มที่ค้างชำระในแต่ละกรณีต่อไปนี้ด้วย
(๑) การค้างชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
โดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดหรือหลายบริษัทซึ่งควบเข้ากันเป็นบริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ตามความในหมวด ๑ หรือ หมวด ๒ แล้วแต่กรณี
(๒) การค้างชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
โดยบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งถูกซื้อกิจการที่เป็นใบอนุญาตประเภทเดียวกับที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการได้รับตามหมวด
๔
ให้บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้ชำระค่าธรรมเนียมและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จในปีที่บริษัทได้รับใบอนุญาต
เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะเห็นสมควรผ่อนผันระยะเวลาชำระเงินดังกล่าวเป็นประการอื่น
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.
๒๕๔๑
(ธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ
: เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้
คือ โดยที่เป็นการสมควรสนับสนุนให้บริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ดำเนินการควบบริษัทเข้ากันหรือเข้าซื้อกิจการระหว่างกัน
โดยให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวสามารถรักษามูลค่าของใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่แต่ละบริษัทมีอยู่เดิมได้ด้วย
ซึ่งนอกจากจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีฐานะการเงินที่มั่นคงขึ้น
และเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการขยายตัวทางธุรกิจแล้ว
ยังสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถประกอบธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น
และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
และโดยที่มาตรา ๙๐ วรรคสี่
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
และการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข
และวิธีการตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้