Detail Content
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 90 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บริษัทจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
( 1 ) เป็นบริษัทจำกัดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นและถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
( 2 ) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
( 3 ) มีวัตถุประสงค์เพื่อ
3.1 จัดการลงทุนตามโครงการจัดการกองทุนรวมโดยการออกหน่วยลงทุนจำหน่ายแก่ผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
3.2 นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนของแต่ละโครงการไปลงทุนในหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่สมัครใจจะให้กองทุนรวมนี้ลงทุนในหุ้นของบริษัทตน
3.3 ประกอบธุรกิจอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับ (3.1) และ (3.2) โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ข้อ 2 การขอรับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีในการจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยยื่นผ่านสำนักงานตามแบบพร้อมทั้งหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 3 ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและหลักฐานครบถ้วน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดดังกล่าว ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ข้อ 4 เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ 3 แล้ว ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัดตามข้อ 1 และให้บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยยื่นผ่านสำนักงานภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทจำกัดตามแบบพร้อมทั้งหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 5 เมื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับคำขอและหลักฐานครบถ้วนและพิจารณาเห็นว่าบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นมีลักษณะถูกต้องตามที่กำหนด ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและหลักฐานครบถ้วน และให้รัฐมนตรีพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทดังกล่าว ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้เป็นไปตามแนบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ต้องมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ เก้าสิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาตและต้องมีกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการตั้งแต่ระดับฝ่ายขึ้นไป เป็นผู้ที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
ข้อ 7 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา ดังนี้
(1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว คำขอละ 500 บาท
(2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว 50,000 บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539
(นายบดี จุณณานนท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าวประสงค์จะลงทุน ในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่เนื่องจาก มีข้อจำกัด เกี่ยวกับอัตราส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าวจึงเป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยให้สามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้โดยผ่านกองทุนรวมซึ่งมีกฎหมาย รองรับในเรื่องสัญชาติ ทั้งนี้ โดยให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่แล้วเป็นผู้จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าวและโดยที่มาตรา 90 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535กำหนดให้การขอรับใบอนุญาต การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต และการให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อประกอบ ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการตลอดจนเสียค่าธรรมเนียม ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้