กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๐
วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ
๑
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๓ การให้ความเห็นชอบโครงการตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีมติดังต่อไปนี้
๑.๑
ให้แยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกัน
๑.๒ กำหนดอัตราส่วนการถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในบริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ทั้งในขณะจัดตั้งบริษัทใหม่และหลังจากที่บริษัทใหม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
โดยในขณะจัดตั้งบริษัทใหม่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(๒)
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
จะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ
ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ได้รับใบอนุญาต
(๓) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะมีความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
ณ
วันที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับได้ ไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
(๔) ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้กำหนดหรือมีความตกลงไว้ล่วงหน้าว่า
จะให้นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดารายใดเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่ว่าโดยทางตรง
หรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว
เมื่อบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีของนิติบุคคล
๑. นิติบุคคลดังกล่าวไม่มีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่น ที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
๒. ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
นิติบุคคลดังกล่าวไม่เคยมีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวง
หรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบ
หรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ
เว้นแต่กรณีที่เห็นเป็นการสมควร
รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันลักษณะต้องห้ามดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลนั้นได้
๓. ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ๑. และ
๒. โดยอนุโลม
ข. ภายในระยะเวลาสิบปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอบุคคลดังกล่าวไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
ค. ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
บุคคลดังกล่าวไม่เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ
ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์
บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
หรือธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลนิติบุคคลนั้น ๆ
ง. ภายในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังนับแต่วันยื่นคำขอ
บุคคลดังกล่าวไม่เคยเป็นประธาน กรรมการ กรรมการ
ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือธนาคารพาณิชย์
ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
หรือถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกควบคุมกิจการ เว้นแต่กรณีที่เห็นเป็นการสมควรรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. อาจพิจารณาผ่อนผันลักษณะต้องห้ามดังกล่าวให้แก่บุคคลนั้นได้
(ข) ในกรณีของบุคคลธรรมดา
บุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (ก)๓.โดยอนุโลม
ข้อ
๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.
๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ
๓ เมื่อรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการตามข้อ ๒
แล้ว ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตามข้อ
๑ ดำเนินการจัดตั้งบริษัทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบและเมื่อได้จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่แล้ว
ให้บริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามที่ได้รับความเห็นชอบ
ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่อรัฐมนตรีโดยยื่นต่อคณะกรรมการ
ก.ล.ต. ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดในแบบ ๙๐
- ๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่หรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่
มิได้เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบ
หรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
ให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นอันสิ้นสุดลง เว้นแต่รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะผ่อนผันหรือกำหนดเป็นประการอื่น”
ข้อ
๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๗ เมื่อบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สิน
รวมทั้งรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ถ้ามี) จากบริษัทเงินทุนภายใต้หลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสร็จสิ้นตามโครงการที่รัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
บริษัทเงินทุนที่คงอยู่ ภายหลังการแยกการประกอบธุรกิจจะลดอัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ลงก็ได้”
ข้อ
๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๗ ทวิ
แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
2535
“ข้อ ๗
ทวิ เมื่อบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่จะมีผลทำให้บุคคลใดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว
ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์นั้น
ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
มิให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ตามที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้แสดงไว้แล้วตามข้อ
๒ วรรคสอง เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะมีลักษณะต้องห้าม
อย่างหนึ่งอย่างใดเช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ในข้อ
๒ วรรคสอง (๔) ภายหลังจากที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้เสนอโครงการตามข้อ ๒
แล้ว"
ข้อ
๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.
๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๘ ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นดังนี้
(๑)
การยื่นคำขอรับความเห็นชอบโครงการตามข้อ ๒ และคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามข้อ ๓ คำขอละ ๕๐๐
บาท
(๒) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ให้ชำระตามอัตราและกำหนดเวลาตามนัยแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖
(พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
(๓) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ให้ชำระตามอัตราและกำหนดเวลาตามนัยแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙
(พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
๒๕๓๕
ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ขอแยกการประกอบธุรกิจตามกฎกระทรวงนี้ค้างชำระค่าธรรมเนียม
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่
โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้รับผิดชำระบรรดาค่าธรรมเนียม
และเงินเพิ่มทั้งหมดให้แล้วเสร็จในปีที่ได้รับใบอนุญาต
เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะเห็นสมควรผ่อนผันระยะเวลาการชำระเงินดังกล่าวเป็นประการอื่น
ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ขอแยกการประกอบธุรกิจตามกฎกระทรวงนี้
มิได้ค้างชำระค่าธรรมเนียม ให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว
และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้
ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้นสำหรับปีปฏิทินแรกที่ได้รับใบอนุญาต”
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
(ธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้
คือ โดยที่เป็นการสมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการการจัดตั้งและการดำเนินงานของบริษัทที่จะเกิดจากการแยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันเพื่อให้ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้นรวมทั้งสมควรยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดห้ามมิให้บริษัทเงินทุนลดอัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่หลังการแยกธุรกิจก่อนพ้นหกเดือนหลังจากที่บริษัทหลักทรัพย์เปิดดำเนินการ
เพื่อความคล่องตัวในการประกอบกิจการ อีกทั้งยังสมควรกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะมีผลทำให้บุคคลใดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละสิบจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อน
ทั้งนี้
เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีโอกาสพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าว มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทหลักทรัพย์นั้นหรือไม่
นอกจากนั้น ยังสมควรเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
และโดยที่มาตรา 90 วรรคสี่
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดให้การขอความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัท
เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และการขอใบอนุญาต
และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้