กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 90 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติ
หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือ
บริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
และการขอ
รับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อ
ธุรกิจหลักทรัพย์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะจัดตั้ง
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ
หลักทรัพย์
ยื่นคำขอรับความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจ
หลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวต่อรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. โดยยื่นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ผ่านสำนักงานตามแบบพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
จะได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 3 ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.
เสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมทั้งเอกสาร
หลักฐานถูกต้องครบถ้วน
และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัท
มหาชนจำกัดดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
ข้อ 4 เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ 3 แล้ว
ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบดำเนินการ
จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อ
ธุรกิจหลักทรัพย์
โดยต้องมีโครงสร้างของผู้ถือหุ้นและสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวตามที่คณะ
กรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
และเมื่อได้จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นแล้ว ให้บริษัท
จำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้จัดตั้งขึ้นนั้นยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท
การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โดยยื่นผ่านสำนักงานภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีตามแบบพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. จะได้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่ผู้ได้รับความเห็นชอบมิได้จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
หรือบริษัท
จำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท
ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง
ให้การได้รับความเห็นชอบเป็นอันสิ้นสุดลง
ข้อ 5 เมี่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ได้รับคำขอรับใบอนุญาตตามข้อ 4 พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานถูกต้องครบถ้วน
ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะต่อรัฐมจตรีเพื่อออกใบอนุญาตประกอบ
ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน
และให้รัฐมนตรีพิจารณาออกใบอนุญาตภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ให้เป็นไป
ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 6 บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้
ต้อง ดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
และต้องดำรง
โครงสร้างของผู้ถือหุ้นและสัดส่วนการถือหุ้นตามที่ได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่
ได้รับใบอนุญาต เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะผ่อนผันเป็นประการอื่น
ข้อ 7 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา
ดังนี้
(1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
คำขอละ 500 บาท
(2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
ปีละ 500,000 บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มิถุนายน
พ.ศ. 2539
(นายบดี จุณณานนท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ :
เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ
เนื่องจากได้มีการกำหนดให้
การประกอบกิจการเกี่ยวกับการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจ
หลักทรัพย์สามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวและมีศักยภาพยิ่งขึ้นอันจะเป็นการส่งเสริมการ
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และโดยที่มาตรา 90 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535กำหนดให้มีการขอรับ
ใบอนุญาตการขอความเห็นชอบการออกใบอนุญาตและการให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีการ ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จึงจำเป็นต้องออก กฎกระทรวงนี้