กฎกระทรวง
ว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท
การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน พ.ศ. ๒๕๔๕
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๐ วรรคสี่
แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา๕๐
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนตามกฎกระทรวงนี้ได้ต้องเป็น
(๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๒)
บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์
และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(๓)
บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(๔) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต
(๕) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
หรือ
(๖)
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๒ ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นนิติบุคคล
ตามข้อ ๑(๑) ถึง (๕) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑)
สามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้นหรือกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น
(๒)
แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
(๓)
แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนในกรณีที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต
เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๓ ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นนิติบุคคล
ตามข้อ ๑(๖) ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๒(๒) และ (๓)ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งมีผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่เป็นนิติบุคคลตามข้อ
๑(๑) ถึง (๕) ซึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
นิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๒(๑) ด้วย
ข้อ ๔ ในกรณีที่นิติบุคคลตามข้อ ๑(๑) ถึง (๕)
ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้นิติบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ ๕ ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
ให้ผู้นั้นยื่นขอรับความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาและตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ ๖ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่าบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.
เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.
ข้อ ๗ เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ ๖ แล้ว
ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบ
และให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่คณะกรรมการ
ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับความเห็นชอบมิได้จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่
หรือมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง
ให้การได้รับความเห็นชอบเป็นอันสิ้นสุดลง
ข้อ ๘ ในการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนตามกฎกระทรวงนี้เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ขอรับใบอนุญาต
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อตรวจสอบฐานะการเงินการดำเนินงาน สินทรัพย์ หรือข้อมูลต่าง
ๆที่เกี่ยวข้องของผู้ขอรับใบอนุญาต
ข้อ ๙ ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.
พิจารณาเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามข้อ ๔ หรือข้อ ๗
เป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.
เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน
และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
ก.ล.ต.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการก.ล.ต.
ประกาศกำหนด
ข้อ ๑๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนจะเริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวได้
ต่อเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบแล้วเห็นว่า
ผู้ได้รับใบอนุญาตได้จัดให้มีระบบงานและบุคลากรตามที่ได้แสดงไว้ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓
แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๑ ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา
ดังนี้
(๑) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน คำขอละ ๑๐,๐๐๐
บาท
(๒) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ๑๐,๐๐๐
บาท
ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในวันที่ได้รับใบอนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง