ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมธนาคารไทย (Main Operator) ร่วมกับ ก.ล.ต. CMDF และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้บริการ Digital Infrastructure for Capital Market โดยเริ่มจากระบบ Web Portal รองรับการเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรกด้วยดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการเป็นครั้งแรกในไทย ตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบ โครงการนี้อยู่ในระยะนำร่องของสำนักงาน ก.ล.ต. (Sandbox) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้บริการของตลาดทุนไทย ลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล พลิกโฉมตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลรับกระแสโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. ได้ริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยเมื่อปลายปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และโครงการดังกล่าวได้ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เรื่องการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล (Digital transformation) โดย ก.ล.ต. มีความตั้งใจในการผลักดันการพัฒนาระบบ DIF Web Portal ให้เติบโตไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งความสำเร็จในวันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดทุนในการเชื่อมโยงการทำงานของผู้ร่วมตลาดที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการในตลาดทุนเป็นดิจิทัล 100% เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดทุนไทย และส่งเสริมให้ตลาดทุนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ ก.ล.ต. ขอขอบคุณกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ที่ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาโครงการ โดย ก.ล.ต. จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายการพัฒนาโครงการ การผลักดันการแก้ไขกฎหมายกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม การส่งเสริมการใช้งานระบบ และการนำข้อมูลมาต่อยอดในการพัฒนาตลาดทุนต่อไป”
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เปิดเผยว่า “การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนนั้น นับเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ CMDF และการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนา DIF Web Portal ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการสนับสนุนในด้านดังกล่าว โดย CMDF มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบที่เห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น ยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาตลาดทุนสู่ความยั่งยืนต่อไป”
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะผู้แทน Main Operator เปิดเผยว่า “DIF Web Portal เป็นระบบให้บริการออกเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดแรกในรูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย ซื้อขาย ตลอดจนการชำระราคาและส่งมอบตราสารหนี้ในรูปแบบไร้ใบ (Scripless) ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยได้จัดตั้ง บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด เป็นเจ้าของระบบ และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เป็นหน่วยงานปฏิบัติการของระบบ”
ดร. สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการของโครงการ DIF กล่าวว่า “ThaiBMA มีส่วนร่วมในโครงการ DIF ในสองบทบาท คือ ในฐานะผู้รับขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมอยู่แล้ว และที่สำคัญยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการธุรกิจของโครงการ DIF
ThaiBMA ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ และมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ด้วยการร่วมมือกับ CMDF สำนักงาน ก.ล.ต. และทุกภาคส่วน ในการพัฒนาโครงการ DIF ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของตลาดทุนไทยต่อไป”
DIF Web Portal นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เชื่อมต่อกับระบบการทำธุรกรรมการเสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างครบวงจรด้วยมาตรฐานข้อมูลเดียวกันในรูปแบบดิจิทัล (Standard Messages) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน การส่งข้อมูลอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้ (Machine readable) และผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนไทยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ในอนาคต
ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายตราสารหนี้ดิจิทัลผ่านระบบดังกล่าวกลุ่มแรก จำนวน 4 ราย คือ (1) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (2) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (3) บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (4) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.7 พันล้านบาท
จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันพัฒนา DIF Web Portal ให้เสร็จสมบูรณ์ ได้นำร่องให้บริการออกตราสารหนี้ดิจิทัลภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดกว้างรับผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ร่วมตลาดรายอื่นเข้ามาร่วมกันทดสอบและสร้างนวัตกรรมการลงทุนใหม่แก่ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม Sandbox ที่ร่วมทดสอบระบบแล้วจำนวน 16 ราย และจะมุ่งเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่กระบวนการและผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นต่อไป