การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี:
จากหลักการสู่หลักปฏิบัติ WEPs Principles to Actions” นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพฯ ลุมพินี พาร์ค โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจากบริษัทจดทะเบียน
30 แห่ง
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
WE RISE Together ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลียผ่านโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย
และดำเนินโครงการโดยสำนักงาน UN
Women ซึ่งโครงการ WE RISE Together มุ่งสนับสนุนซัพพลายเออร์ที่หลากหลายผ่านการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ
หรือ Supplier Diversity through Gender-Responsive Procurement (SD-GRP) ในประเทศไทยและเวียดนาม
คุณอาลิยา เอล-ยะซีร์ ผู้อำนวยการสำนักงาน
UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
กล่าวว่า ธุรกิจที่มีซัพพลายเออร์หลากหลายและจัดซื้อจัดจ้างจากธุรกิจที่ผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางเป็นเจ้าของมากขึ้น
จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในท้ายที่สุด
UN Women หวังว่ารายงาน 56-1 One Report
(รายงานว่าด้วยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลหรือ environmental,
social and corporate governance – ESG) ของบริษัทต่าง
ๆ จะทำให้มีการนำหลักการ WEPs และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องไปใช้มากขึ้น
เช่น เครื่องมือการประเมินการจัดซื้อจัดจ้างที่คํานึงถึงความเสมอภาคทางเพศ
(Gender-Responsive Procurement assessment tools) ซึ่งจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่สังคมทุกภาคส่วนทั่วทั้งระบบตลาดทุนโดยยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านการ นำหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีไปปฏิบัติจริง
โดยเป็นหลักการที่เสนอแนวทางแก่บริษัทในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน ตลาด
และชุมชน
คุณจอมขวัญ คงสกุล
รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีความยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งสอดรับกับแนวทางขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน
รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ โดย ก.ล.ต. มีเรือธงยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
สังคม และธรรมาภิบาลผนวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มคุณค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า
ดังนั้น เครื่องมือของ UN Women จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม
และสามารถเปิดเผยข้อมูลนโยบายและการผลการปฏิบัติในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1
One Report) ต่อไป”
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ ได้จัดให้มีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแนวคิด
SD-GRP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
WEPs หลักการที่ 5 ว่าด้วยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการตลาด
เพื่อเผยแพร่แนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเสมอภาค
ที่ครอบคลุมตลอดกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่ภายในอุตสาหกรรมไปจนถึงทั้งห่วงโซ่อุปทาน
คุณเพ็ญศรี สุธีรศานต์
ที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ
ปัจจุบันจะพบว่าบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำองค์กรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อช่วงต้นปี 2566 ได้มีการสำรวจพบว่าจำนวนบริษัทจดทะเบียนถึง 1 ใน 3
มีผู้บริหารองค์กรเป็นเพศหญิง ทั้งนี้
การดูแลความเท่าเทียมกันทางเพศนับเป็นหนึ่งในการพัฒนา
ความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุน สมาคมฯ
ยังมีนโยบายในการสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนในทุกมิติของบริษัทจดทะเบียน
ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
คุณสุมณฑา สังข์ช่วง ผู้จัดการแผนกกำกับดูแลกิจการ
บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทของเราให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพสตรีมาโดยตลอด
เช่น มีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพให้แก่พนักงานในบริษัท และการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ช่วยให้เราได้รับมุมมองใหม่
ๆ ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับชุมชนมากขึ้น”
สำนักงาน UN Women ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อส่งเสริมแนวทาง ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value
chain) โดยให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ความรับผิดชอบ
และความหลากหลาย ก่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม
และธรรมาภิบาล