ปัจจุบัน ก.ล.ต. เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจไทย)* สามารถให้บริการลงทุนในต่างประเทศได้ โดยอาจใช้บริการผ่านผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศอีกทอดหนึ่งและใช้บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนไทยได้ ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศที่มีลักษณะตามที่กำหนดและให้คำแนะนำหรือข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ลงทุนไทยร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจไทย จะได้รับยกเว้นไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนหรือที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Investment Advisory Services: IA) ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องแจ้งชื่อบุคลากรต่างประเทศล่วงหน้า และมีกำหนดระยะเวลาการให้คำแนะนำของบุคลากรต่างประเทศที่ไม่เกินระยะเวลาที่เกณฑ์กำหนดด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีความยืดหยุ่นและสะดวกมากขึ้น โดยที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำที่มีประสิทธิภาพ ในเวลาที่เหมาะสม ก.ล.ต. จึงปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ลงทุนในประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ** โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ปรับปรุงเงื่อนไขการยกเว้นการประกอบธุรกิจ IA ให้กับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ แจ้งชื่อผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ ที่จะให้บริการแก่ผู้ลงทุนไทยต่อ ก.ล.ต. จากปัจจุบันแจ้งเพียงชื่อบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ
(2) ปรับปรุงหลักการแจ้งชื่อบุคลากรต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ แจ้งชื่อบุคลากรต่างประเทศที่ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ผู้ลงทุนไทย ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำ ไม่ว่าการให้ข้อมูลหรือคำแนะนำในรูปแบบหรือช่องทางใด*** จากปัจจุบันที่ให้แจ้งล่วงหน้า 1 วันทำการก่อนให้ข้อมูลหรือคำแนะนำ
(3) ปรับปรุงคุณสมบัติและระยะเวลาการปฏิบัติงานของบุคลากรต่างประเทศที่ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจฯ ต้องดูแลให้มั่นใจว่า บุคลากรต่างประเทศที่ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำ เป็นการให้บริการแบบชั่วคราวและตามความจำเป็นเท่านั้น จากปัจจุบันที่กำหนดให้บุคลากรต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติงานในไทยได้ไม่เกิน 90 วันในรอบปีปฏิทินต่อคน
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “จากการที่ผู้ลงทุนไทยมีการไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ก.ล.ต. สนับสนุนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างประเทศก่อนตัดสินใจลงทุน โดยผู้ประกอบธุรกิจไทยมีหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม การปรับปรุงประกาศในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนไทยได้รับข้อมูล คำแนะนำ หรือการตอบคำถามเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่ผู้ลงทุนสนใจได้ทันที ตามความความจำเป็นของผู้ลงทุน โดยผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องดูแลความเหมาะสมของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ บุคลากร และการให้คำแนะนำดังกล่าวด้วย”
สำหรับประกาศที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉบับ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยมีระยะเวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ประกาศมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
_______________________
หมายเหตุ:
* หมายถึง (1) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (2) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
** ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2566 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (ฉบับที่ 6)
https://publish.sec.or.th/nrs/9991s.pdf
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 21/2566 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3)
https://publish.sec.or.th/nrs/9992s.pdf
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 41/2566 เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (ฉบับที่ 5)
https://publish.sec.or.th/nrs/9993s.pdf
*** เว้นแต่เป็นการเข้ามาให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจไทยได้รับยกเว้นการแจ้งชื่อบุคลากรต่างประเทศ