Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทยสำหรับกิจการต่างประเทศ



วันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 | ฉบับที่ 2 / 2567


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทยสำหรับกิจการต่างประเทศ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทยโดยกิจการต่างประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของผู้ออกซึ่งเป็นกิจการต่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องบริบทและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

  (1) กำหนดให้กิจการต่างประเทศที่ประสงค์จะขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย (Baht Bond) สามารถยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการยื่นคำขออนุญาตจากกระทรวงการคลังก่อน

(2) ปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond โดยมีข้อกำหนด ได้แก่ 1) ต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (issue rating) โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (international CRA) 2) ต้องได้รับ issue rating ไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)* 3) กำหนดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และ 4) นำตราสารหนี้ที่เสนอขายไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ทั้งนี้ สำหรับผู้ออกรายเดิมที่จะชำระหนี้ตราสารหนี้คงค้าง (roll-over) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้รับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ไม่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้** ก.ล.ต. ได้กำหนดแนวทางการผ่อนผันเป็นการชั่วคราวสำหรับการขออนุญาตของผู้ออกกลุ่มนี้ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ออก ผู้ลงทุน และความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้

  (3) การปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย หรือ FX Bond ของกิจการต่างประเทศให้เป็นลักษณะเดียวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond 

ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว*** ได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

________________________

หมายเหตุ:

*หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และต้องได้รับ rating ไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ ไม่บังคับใช้กับการเสนอขายในวงจำกัด (Private Placement: PP10)

**ผู้ออกรายเดิมที่มีตราสารหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

***ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ฉบับ ดังนี้

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 60/2566 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (ฉบับที่ 5) (https://publish.sec.or.th/nrs/10038s.pdf)

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 61/2566 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด และการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพต่อบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ (ฉบับที่ 5) (https://publish.sec.or.th/nrs/10039s.pdf)

(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 62/2566 เรื่อง การผ่อนผันหลักเกณฑ์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการอนุญาตเสนอขายหุ้นกู้หรือพันธบัตรสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทยต่อบุคคลในวงจำกัดโดยกิจการต่างประเทศเป็นการชั่วคราว (https://publish.sec.or.th/nrs/10040s.pdf)

(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 63/2566 เรื่อง การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/10041s.pdf)

(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่  สจ. 35/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/10043s.pdf)






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. – ThaiBMA ร่วมจัดทำและเผยแพร่ “ตัวอย่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เปิดเผยข้อมูลของผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อเป็นประโยชน์แก่การประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน
ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เปิดโอกาส SME – Startup เข้าถึงแหล่งทุนและมีส่วนร่วมพัฒนาด้านความยั่งยืน
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การยกระดับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล
ก.ล.ต. จัดทำคู่มือการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้