Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. รับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน



วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567 | ฉบับที่ 217 / 2567


ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในด้านการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน แนวทางและเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (LMTs) และการกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินทำหน้าที่รับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีความเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน  

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มุ่งหวังให้การกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความเหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสมาชิกกองทุนให้ได้รับความเป็นธรรมและโปร่งใส ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและคำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกกองทุนโดยรวมเป็นสำคัญ เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกลไกการออมการลงทุนระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณ

ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

      (1) การปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน ซึ่งครอบคลุมเรื่องการกำหนดให้บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ต้องตรวจสอบทำความเข้าใจข้อบังคับกองทุนและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของสมาชิกได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้งต่อกอง หรือหากกำหนดเกิน 4 ครั้งต่อกองต่อปี บลจ. ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และเรื่องการเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับการนำส่งเงินเข้ากองทุน การคำนวณและเปิดเผยข้อมูลจำนวนหน่วยให้สมาชิกทราบ

      (2) แนวทางการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยกำหนดให้ บลจ. มีแนวทางและเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Liquidity Risk Management Tools: LMTs) ในทำนองเดียวกันกับแนวทางของกองทุนรวม โดยให้ บลจ. เลือกใช้ได้ตามความจำเป็น เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

       (3) การกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินทำหน้าที่รับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีที่จะเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องมีความพร้อมในด้านระบบงานเกี่ยวกับการรับรอง NAV เพิ่มเติม และเพิ่มหน้าที่ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องทำหน้าที่รับรอง NAV ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย รวมทั้งต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับ NAV ที่ได้รับรองแล้วให้แก่ บลจ. ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้รับข้อมูลครบถ้วน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและสมควร อาจขอผ่อนผันระยะเวลาการจัดส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. ได้ สำหรับผู้รับฝากทรัพย์สินในปัจจุบันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับรองมูลค่า NAV ให้ถือว่าได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้แล้ว

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นหลักการในเรื่องดังกล่าวและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1023 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDQ5OERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=  ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail : anoma@sec.or.th  kodchawan@sec.or.th  หรือ sirinad@sec.or.th  จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567









ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 68
ก.ล.ต. ยกระดับ “ESG Product Platform” เพิ่มข้อมูลสำคัญ SRI Fund หนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลในสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต. ขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียม SRI Fund ต่อเนื่องอีก 1 ปี เน้นย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการลงทุนยั่งยืนของไทย
ก.ล.ต. เปิดตัว “Engagement Questions” เครื่องมือช่วยบริษัทจัดการกองทุนผลักดันบริษัทจดทะเบียนรับมือ climate change เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero