สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) เมื่อเดือนมีนาคม 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการซื้อหุ้นโดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบุคคลรายนายจำเริญ ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการของ BCP ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการที่ BCP จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ESSO จากการทำหน้าที่กรรมการในการประชุมคณะกรรมการบริษัทของ BCP ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ซึ่งภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นายจำเริญได้ซื้อหุ้น BCP ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จำนวน 300,000 หุ้น ก่อนที่ BCP จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการที่ BCP จะเข้าซื้อหุ้น ESSO และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ESSO ต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 8.40 น. ทำให้นายจำเริญได้รับผลประโยชน์จากมูลค่าหุ้น BCP ที่มีราคาเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ BCP ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์
การกระทำของนายจำเริญข้างต้น เป็นการซื้อหุ้น BCP โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน อันเป็นความผิดตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดรายนายจำเริญ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,622,557 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ:
* มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
อ่านรายละเอียด “การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/CivilPenalty.aspx