Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เตรียมปรับเกณฑ์รองรับ leveraged และ inverse ETFs เพิ่มผลิตภัณฑ์ลงทุนที่หลากหลาย



วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 | ฉบับที่ 252 / 2567


ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับ leveraged และ inverse ETFs (L&I ETFs) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถรองรับมุมมองและบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนับสนุนการพัฒนากองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund หรือ ETF) ให้เป็นทางเลือกลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการกระจายการลงทุนเหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป แต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และสามารถซื้อขายในราคาปัจจุบัน (real time) ได้ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้รวดเร็วตามสภาวะตลาด โดยหลังจากที่ได้ปรับปรุงเกณฑ์* ให้ ETF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทที่กองทุนรวมลงทุนได้ เพิ่มความยืดหยุ่นของดัชนีอ้างอิง และครอบคลุมกลยุทธ์การลงทุนทั้งในลักษณะเชิงรับ (passive) และเชิงรุก (active) ในปีที่ผ่านมา 

ก.ล.ต. เห็นควรปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้รองรับการออก ETF ที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนตรงข้ามกับดัชนีอ้างอิง (inverse ETF) และที่คาดหวังผลตอบแทนทวีคูณ (leveraged ETF) (รวมเรียกว่า leveraged และ inverse ETFs หรือ L&I ETFs) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีเครื่องมือลงทุนที่หลากหลายขึ้น และส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศที่ตลาด L&I ETFs มีการพัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี L&I ETFs** มีความเสี่ยงและความซับซ้อนต่างจาก ETF ที่ลงทุนตามดัชนีอ้างอิงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสร้างผลตอบแทนให้ทวีคูณหรือตรงกันข้ามกับผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง L&I ETFs จึงต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุนทุกวัน (daily reset) เมื่อมีการถือลงทุนมากกว่าหนึ่งวัน ผลตอบแทนของกองทุนที่คำนวณแบบทบต้นทุกวัน จะส่งผลให้ผลตอบแทนของ L&I ETFs แตกต่างจากดัชนีอ้างอิง ดังนั้น จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพิ่มเติมและดูแลให้บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ที่ออก ETF และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เปิดให้ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขาย L&I ETFs มีการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งดูแลให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจผลิตภัณฑ์และสามารถรับความเสี่ยงได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ 

(1) จำกัดอัตราทวีคูณของ L&I ETFs ไว้ไม่เกิน 2 เท่าและอัตราทวีคูณต้องเป็นจำนวนเต็ม ไม่เป็นทศนิยม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ลงทุนไทยยังไม่คุ้นเคย

(2) เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงของ L&I ETFs เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น กำหนดชื่อที่สื่อถึงกลยุทธ์การลงทุน เปิดเผยวิธีการลงทุน เครื่องมือที่ใช้ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงและคำเตือน รวมทั้ง performance simulator*** เป็นต้น 

(3) ซื้อขาย L&I ETFs ผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น และ บล. ที่เปิดให้ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขาย L&I ETFs ต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนมีความรู้และตระหนักถึงความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และมีกลไกติดตามดูแลการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ขายมีความรู้ความเข้าใจใน L&I ETFs ก่อนให้บริการ

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1031 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทางอีเมล thanunya@sec.or.th หรือ pattarav@sec.or.th จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์รองรับการออก L&I ETFs จะส่งผลให้ บล. สามารถพาผู้ลงทุนไปลงทุนใน L&I ETFs ต่างประเทศได้ และตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) สามารถอ้างอิง L&I ETFs ต่างประเทศได้ โดยอาจมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการให้บริการ L&I ETFs ต่อไป

_______________________

หมายเหตุ : 

* ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 249/2566 เรื่อง “ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนรวมอีทีเอฟให้มีความหลากหลายมากขึ้น” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 

** L&I ETFs เป็น ETF ที่มีกลยุทธ์ ดังนี้ 
o leveraged คือ กลยุทธ์การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลตอบแทนทวีคูณจากผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง เช่น 2 หรือ 3 เท่าของดัชนี
o inverse คือ กลยุทธ์การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลตอบแทนตรงกันข้ามกับผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง (-1x) และสามารถมีกลยุทธ์การบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลตอบแทนตรงกันข้ามแบบทวีคูณกับผลตอบแทนรายวันของดัชนีอ้างอิง (-2x) ด้วยเช่นกัน

*** performance simulator คือ เครื่องมือที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกช่วงเวลาในอดีตเพื่อดูผลตอบแทนและผลกำไรหรือขาดทุนสูงสุดของ L&I ETFs







ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์
ก.ล.ต. รับ “รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐระดับกรม” เป็นปีที่ 4
ก.ล.ต. ขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียม SRI Fund ต่อเนื่องอีก 1 ปี เน้นย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการลงทุนยั่งยืนของไทย
ก.ล.ต. เปิดตัว “Engagement Questions” เครื่องมือช่วยบริษัทจัดการกองทุนผลักดันบริษัทจดทะเบียนรับมือ climate change เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มความคุ้มครองสิทธิสมาชิกกองทุน