Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เปิดเวทีผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มต้นที่บทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ



วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 | ฉบับที่ 22 / 2557



ก.ล.ต. ร่วมกับ PwC ประเทศไทย จัดสัมมนา ?ความท้าทายของกรรมการตรวจสอบกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน? แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกรรมการตรวจสอบและผู้ทรงวุฒิเฉพาะด้าน

นายวรพล  โสคติยานุรักษ์  เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยเตรียมความพร้อมของกรรมการตรวจสอบในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกันพัฒนาบริษัทจดทะเบียนไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนที่กล่าวถึง คือการดำเนินงานของบริษัทที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และความมีธรรมาภิบาล เพราะธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ในสังคมที่ล้มเหลว ธุรกิจจึงไม่สามารถคำนึงถึงเพียงผลตอบแทนหรือผลกำไรเท่านั้น

ทั้งนี้ ธุรกิจจะพัฒนาและดำรงความยั่งยืนของกิจการได้ จะต้องดำเนินงานด้วยหลักสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การมี CG in Substance คือความมีธรรมาภิบาลในสาระและปฏิบัติจริง ไม่เป็นเพียงการกรอกแบบรายงานข้อมูล แต่การทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง สร้างความน่าเชื่อถือ โดยการปฏิบัติจริง ด้านที่สองคือ การมี CSR-in-process คือมี CSR อยู่ในทุกกระบวนการทำธุรกิจ ทั้งแผนกลยุทธ์ แผนการผลิต แผนการตลาด มากกว่าการบริจาคที่คุ้นเคย และด้านสุดท้ายคือ Anti-corruption-in practice คือ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันที่ปฏิบัติเป็นรูปธรรม สร้างวัฒนธรรมองค์กร
ที่ปลอดและปฏิเสธการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากบริษัทจดทะเบียนเอง (Self-Discipline) พร้อมกับการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งตลาดและอุตสาหกรรม (Market-Discipline) เพื่อลดการออกกฎเกณฑ์บังคับใช้ (Regulatory Discipline) ให้มากที่สุด

ทางด้าน นายศิระ  อินทรกำธรชัย  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด  (PwC ประเทศไทย) เปิดเผยว่า  กรรมการตรวจสอบที่ดีนั้น จะต้องมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวางเพียงพอต่อบทบาทหน้าที่และลักษณะธุรกิจ ดังนั้น PwC ประเทศไทย จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมกับ ก.ล.ต. จัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับกรรมการตรวจสอบ ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เกิดความมั่นใจว่ากรรมการตรวจสอบจะช่วยกำกับดูแลและพัฒนาองค์กรอย่างครอบคลุม เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืนและเติบโตในการดำเนินธุรกิจยิ่งๆ ขึ้นไป