Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เผยผลประเมินความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนไทย



วันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557 | ฉบับที่ 150 / 2557



ก.ล.ต. สนับสนุนสถาบันไทยพัฒน์ เผยผลตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน สำหรับบริษัทจดทะเบียน ไทย (Anti-corruption Progress Indicator) พบร้อยละ 60 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน และมี 19 บริษัทได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.  กล่าวว่า การประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยตัวชี้วัดด้านความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันที่สนับสนุนให้สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมินนั้น เป็นหนึ่งในแผนดำเนินงานของ ก.ล.ต. ตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่เน้นให้บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดีดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามต่อไป

จากการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 567 รายปรากฏว่า 344 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60 มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 1 ขึ้นไป คือ บริษัทแสดงให้เห็นถึงคำมั่นจากผู้บริหารและขององค์กรแล้วว่ามีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 472 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอจำนวน 95 บริษัท ในจำนวนนี้มี 19 บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการประเมินสูงสุดที่ระดับ 4 จาก 5 ระดับ คือ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)  นอกจากนี้ ภายหลังผลการประเมินประจำปี 2556 ดังกล่าวแล้วเสร็จ มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เพิ่มเติมอีก 9 บริษัท ปัจจุบันจึงมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการรับรอง CAC แล้วเพิ่มเป็น 28 บริษัท จึงเป็นที่น่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการดำเนินการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน จนทำให้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้น

การประเมินดังกล่าวช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับการพัฒนาตนเองและนำผลการประเมินมาประกอบการคิดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทได้จากรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะนำการประเมิน Anti-corruption Progress Indicatorไปใช้ด้วย สำหรับผลการประเมินและพัฒนาการของบริษัทจะมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ CG Thailand ทั้งผลการประเมินในระดับประเทศและรายบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมมีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่มีนโยบายดังกล่าวได้ ผ่านการลงทุนในกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายในเรื่องนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้ทราบถึงเจตนาที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันจำนวนกว่า 200 บริษัท ซึ่ง ก.ล.ต. มีแผนส่งเสริมให้บริษัทได้เห็นประโยชน์ของการได้รับการประเมินต่อไป

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สถาบันไทยพัฒน์ สนับสนุนการลงมือปฏิบัติให้เกิดผล ตามแนวทาง Anti-corruption in practice ที่ ก.ล.ต.ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตให้ภาคธุรกิจไทยได้จริง มากกว่าการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ หรือการผลักดันเป็นข้อเสนอเพียงเพื่อให้ผู้อื่นดำเนินการ โดยมิได้รวมถึงส่วนที่ตนเองต้องดำเนินการด้วยตัวชี้วัด Anti-corruption Progress Indicator ที่จัดทำขึ้น ช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ การต่อต้านการทุจริตให้เป็นผลนั้น ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกโกง แต่เกิดจากการทำตัวเองและองค์กรของตนให้ปลอดจากการข้องเกี่ยวกับการโกง เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ทำตาม

นางวรวรรณ  ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า บรรดาผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต รวมไปถึง ผู้ลงทุนสถาบันอย่าง กบข. และ ประกันสังคม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผู้ลงทุนสถาบันเหล่านี้ ต่างมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันกันทั้งสิ้น และเมื่อผู้บริหารต่างได้ให้คำมั่นสัญญาว่าใช้นโยบายในการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือได้ระดับ 1 ไปแล้ว บัดนี้ ทุกบริษัทกำลังอยู่
ในระหว่างการเตรียมตัวเพื่อขอรับรองให้เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)  ในระดับที่สูงขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนความตั้งใจมั่นและเอาจริงเอาจังของผู้ลงทุนสถาบันในการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยการเริ่มให้องค์กรของตนปลอดจากการข้องเกี่ยวกับการโกง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีกองทุนที่จะลงทุนในกิจการที่ปลอดการเกี่ยวข้องกับการโกงเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเชื่อว่ากองทุนประเภทนี้จะมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สังคมไทย อนาคตของประเทศไทยดีขึ้นกว่าทุกวันนี้อย่างมาก